หน้าแรก > สังคม

กรมควบคุมโรค เตือน อันตราย โรคไข้หูดับ พบผู้ป่วยแล้ว 19 คน เสียชีวิต 1 คน

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2023 เวลา 13:28 น.


วันนี้ (20 ก.พ.2566) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคไข้หูดับของกรมควบคุมโรค ตั้งแต่ 1 ม.ค.–11 ก.พ.นี้ มีรายงานผู้ป่วย 19 คน เสียชีวิต 1 คน กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ อายุมากกว่า 65 ปี รองลงมาคือ อายุ 55-64 ปี และอายุ 45-54 ปี

ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร และทำงานบ้าน จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ จ.นครราชสีมา ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2565 พบผู้ป่วยรวม 386 คนเสียชีวิต 9 คน โดยในปีนี้มีแนวโน้มที่จะพบจำนวนผู้ป่วยมากขึ้น

ในช่วงนี้มีโอกาสจะพบผู้ป่วยโรคไข้หูดับเพิ่มขึ้น จากกระแสสังคมบนสื่อออนไลน์ได้รีวิวการกินอาหารดิบ และพฤติกรรมดื่มสุราร่วมกับอาหารสุกๆดิบๆ เช่น เนื้อหมูสด เนื้อวัวสด ซอยจุ๊ ลาบดิบ ก้อย แหนมดิบ

รวมถึงปัจจัยแวดล้อม และวัฒนธรรมการรับประทานอาหาร จึงขอเตือนให้ประชาชนระมัดระวังการกิน การประกอบอาหารและรับประทานอาหารถูกสุขลักษณะ โรคไข้หูดับ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียสเตร็พโตค็อคคัส ซูอิส (Streptococcus suis) โดยเชื้อนี้พบในทางเดินหายใจ และในเลือดของหมูที่กำลังป่วย สามารถติดต่อสู่คนได้ผ่านทางบาดแผล รอยถลอก เยื่อบุตา และการกินเนื้อหมูและเลือดหมูที่ปรุงสุกๆ ดิบ ๆ หรือการสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อ ทั้งเนื้อหมู เครื่องใน และเลือดหมู

ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการหลังรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายโดยเฉลี่ยใน 3 วัน มีอาการไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ปวดตามข้อ มีจ้ำเลือดตามตัว ตามผิวหนัง ซึม คอแข็ง ชัก เมื่อเชื้อเข้าสู่เยื่อหุ้มสมอง และกระแสเลือด ทําให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ข้ออักเสบ ม่านตาอักเสบได้

เนื่องจากเยื่อหุ้มสมองอยู่ ใกล้กับประสาทหูชั้นในทั้งสองข้าง เชื้อสามารถลุกลาม ทำให้เกิดหนองบริเวณปลายประสาทรับเสียง และปลายประสาททรงตัว ทำให้หูตึงไปจนถึงหูหนวกร้อยละ 40 ของผู้ที่ติดเชื้อนี้จะสูญเสียการได้ยินถาวร อาการทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นภายใน 14 วัน หลังจากเริ่มมีไข้ และ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้

ทั้งนี้ หากมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้อาเจียน คอแข็ง หูหนวก ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หลังสัมผัสหมูที่ป่วย หรือหลังรับประทานเนื้อหมูไม่สุก ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

พร้อมแจ้งประวัติการรับประทานอาหารให้แพทย์ทราบ เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยลดอัตราการหูหนวกและการเสียชีวิตได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม