หน้าแรก > การเมือง

ศาลยกฟ้องกลุ่มพันธมิตรฯ คดีกบฏบุกยึดสนามบิน สั่งปรับ 13 แกนนำ ฐานบุกรุก-ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

วันที่ 17 มกราคม 2024 เวลา 16:14 น.


ศาลอาญายกฟ้อง กลุ่มพันธมิตรฯ ในคดีกบฏบุกยึดสนามบินดอนเมือง เมื่อปี 2551 ด้าน 13 แกนนำ โดนโทษปรับ 20,000 บาท ฐานบุกรุก-ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

วันที่ 17 มกราคม 2567 ศาลอาญา นัดอ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 9 เป็นโจทก์ฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กับพวก รวม 32 คน ร่วมกันเป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นกบฏ ก่อการร้ายฯ จากกรณีปิดสนามบินดอนเมือง

มีจำเลย 2 คน คือ พล.ต.จำลอง และ นายเทิดภูมิ ป่วยรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ศาล ประสานให้จำเลย ทั้ง 2 ฟังการอ่านคำพิพากษาผ่านทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ส่วนจำเลยที่เหลือมาครบ โดยศาลใช้เวลาอ่านประมาณ 1 ชั่วโมง ได้พิเคราะห์แล้ว พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1-5 จำเลย 7-13 และจำเลยที่ 31 ประกอบด้วย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายพิภพ ธงไชย นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายสุริยะใส กตะศิลา นายศิริชัย ไม้งาม นายสำราญ รอดเพชร นางมาลีรัตน์ แก้วก่า นายสาวิทย์ แก้วหวาน นายสันธนะ ประยูรรัตน์ นายชนะ ผาสุกสกุล นายรัชต์ชยุตม์ หรืออมรเทพ หรืออมร ศิริโยธินภักดี หรืออมรรัตนานนท์ และ บ.เอเอสทีวี (ประเทศไทย) จำกัด กระทำความผิดฐานบุกรุกและฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 2548 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษบทหนักสุดคือความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 2548 พิพากษาให้ลงโทษปรับ คนละ 20,000 บาท ส่วน ข้อหาอื่น พยานและหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิด ยกฟ้อง ส่วนจำเลยที่เหลือ ศาลได้ยกฟ้องทั้งหมด

นายประพันธุ์ คูณมี เป็นตัวแทนแกนนำ ให้สัมภาษณ์ภายหลังฟังคำพิพากษา น้อมรับในคำพิพากษาของศาลและยืนยันว่าการชุมนุมในครั้งนั้นเป็นการชุมนุมโดยสันติ สงบ ปราศจากอาวุธ และยังบอกว่า คดีนี้อัยการยื่นฟ้องหลายข้อหา ซึ่งตนมองว่าการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ และชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยศาลเห็นว่า การชุมนุมของกลุ่มบัณฑิตสืบเนื่องมาตั้งแต่ช่วงเดือน พฤษภาคม 2551 โดยมีจุดมุ่งหมายคือการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะทำให้การทำผิดการคอร์รัปชันของนักการเมืองหายไป ซึ่งการชุมนุมในครั้งนั้นแม้จะเป็นพื้นที่สนามบินดอนเมือง แต่เป็นการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะไม่เกี่ยวข้องกับการบินที่ไม่กระทบกับประชาชน และไม่มีการทำร้ายผู้โดยสารรวมถึงพนักงาน รวมถึง การชุมนุมดังกล่าวไม่มีการพกอาวุธและก่อจราจลวุ่นวาย ถึงแม้จะเกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนบ้างก็เป็นเรื่องปกติของการชุมนุม ศาลจึงมองว่าการชุมนุมโดยรวมทั้งหมด เป็นไปด้วยความสงบปราศจากอาวุธอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ จึงไม่เป็นความผิดในฐานก่อการร้ายรวมถึงข้อหาอื่นๆ ยกเว้นฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และข้อหาบุกรุก ส่วนข้อหาก่อการร้ายที่ยกฟ้องนั้นเนื่องจากการนั้นไม่มีการใช้อาวุธทำลาย ระบบคมนาคมขนส่งหรืออากาศยาน จึงถือว่าไม่เข้าข่ายความผิด

ในส่วนข้อหาบุกรุกซึ่งสถานที่ดังกล่าวที่มีการใช้ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นการชั่วคราวของรัฐบาลขณะนั้น ซึ่งช่วงที่พันธมิตรเคลื่อนขบวนเข้าไป ได้มีเข้าไปในห้องประชุมที่ใช้ในการประชุมจริง ศาลมองว่าเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ จึงเข้าข่ายความผิดฐานบุกรุก และขณะนั้นเป็นช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ จึงมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินด้วย แต่เป็นการกระทำกรรมเดียวกันผิดกฎหมายหลายบทศาลจึงลงโทษฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม