หน้าแรก > ภูมิภาค

จ.เชียงใหม่ ฮือฮา "ม้าเทวดา" ปรากฏตัวที่กิ่วแม่ปาน รอบนี้เห็นหลายตัว ชาวบ้านเผย ปกติหาดูได้ไม่ง่าย

วันที่ 12 มกราคม 2024 เวลา 15:45 น.


12 มกราคม 2567 อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ เผยภาพ “ม้าเทวดา” หรือ กวางผา ออกมาอาบแดดและเล็มหญ้ากันอย่างสบายใจบริเวณกิ่วแม่ปานท่ามกลางอากาศเย็น ถือเป็นภาพที่หาชมยากเนื่องจากกวางผาเป็นสัตว์ป่าหายากที่ระมัดระวังตัวค่อนข้างมาก สร้างความฮือฮาให้กับนักท่องเที่ยวที่มีโอกาสได้ไปเห็นโดยบังเอิญ

“กวางผา” (Buemese Goral) มองเผินๆ อาจมีรูปร่างคล้ายเลียงผา แต่กวางผามีขนาดตัวที่เล็กกว่าเกือบครึ่ง มีคอเล็กกว่า หางยาวกว่า และขาที่สั้นกว่า มีขนสีน้ำตาลอมเทา มีแถบสีน้ำตาลเข้มพาดกลางหลัง ขนที่ปลายขาทั้ง 4 มีสีขาว คล้ายกับกำลังใส่ถุงเท้าอยู่

กวางผายังมีต่อมพิเศษที่บริเวณหัวตา และบริเวณกีบตีน ถูกสร้างขึ้นเพื่อแสดงอาณาเขตของตน โดยกวางผาจะนำไปถูกับต้นไม้เพื่อประกาศอาณาเขตพื้นที่หากิน ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะมีเขา แต่ในตัวผู้ ฐานเขาจะกว้างกว่า

เนื่องจากถิ่นที่หากินและถิ่นที่อยู่อาศัยของกวางผาคือบริเวณหน้าผาสูง ทำให้ในประเทศไทยสามารถพบเห็นกวางผาได้บนดอยทางภาคเหนือเท่านั้น เช่น ดอยอินทนนท์ ดอยม่อนจอง และ ดอยเชียงดาว ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าเบญจพรรณ ทุ่งหญ้า ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีระดับความสูงและความลาดชันมาก มีหน้าผาเปิดโล่ง ลานหินผาไร่ร้าง หย่อมป่าตามร่องเขา โดยสามารถพบได้ที่ระดับความสูง 1,000-4,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล

ข้อมูลเมื่อปี 2561 คาดว่าประชากรของกวางผา ซึ่งกระจายอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ 9 แห่งทางภาคเหนือ มีประมาณ 288 ตัว พบมากที่สุดที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว และอุทยานแห่งชาติอินทนนท์

ชาวมูเซอเชื่อว่า กวางผาเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของเทวดา สามารถหายตัวได้ จากความแคล่วคล่องว่องไว กระโดดไปมาบนผาสูง กวางผาจึงถูกขนานนามว่า “ม้าเทวดา” ขณะที่คนอีกหลายกลุ่ม เชื่อว่ากระดูกของกวางผา สามารถนำไปทำยารักษาโรคได้

ปัจจุบัน กวางผาถูกจัดให้อยู่ในสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (Vulnerable) หลังจากพบแนวโน้มลดลงอย่างมากจากการถูกล่า และจากถิ่นที่อยู่อาศัยที่จำกัด มีเหวล้อมรอบ มีโอกาสผสมพันธุ์กันเองในระดับที่ใกล้ชิด ทำให้กวางผารุ่นต่อๆ ไปอ่อนแอลง ขณะที่กฎหมายไทย จัดกวางผาเป็นสัตว์ป่าสงวน ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562

ข้อมูลจาก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม