หน้าแรก > ภูมิภาค

กรมอุทยานฯ เร่งตรวจสอบ หลังชายปริศนาอ้างเป็นเจ้าของลูกสัตว์ที่บางปะกง พร้อมยัน ไม่ใช่เสือโคร่ง

วันที่ 16 พฤษภาคม 2024 เวลา 14:00 น.


วันที่  16 พฤษภาคม 2567 กรณี ที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยและชาวบ้าน พบ ลูกเสือโคร่ง ภายในซอยบางวัว-บางจาก 7 ต.บางวัว อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา โดยยังไม่ทราบว่าลูกเสือดังกล่าว เป็นของใคร มีที่มาที่ไปอย่างไร ซึ่งหลังจากช่วยกันจับเอาไว้ได้ เจ้าหน้าที่นำส่งให้ทางสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ (สบอ.) ที่ 2 ดูแลชั่วคราว

ขณะที่ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์กับ มติชนออนไลน์ ว่า ล่าสุด มีผู้นำเอกสารอ้างความเป็นเจ้าของสัตว์ที่เลี้ยงอยู่ในฟาร์ม จะมารับกลับไปเลี้ยงดูแล้ว ซึ่งตามกฎหมาย กรมอุทยานฯจะต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้งว่าเป็นสัตว์จากฟาร์มเลี้ยงที่ถูกต้องหรือไม่ "ที่เราแปลกใจคือ คนที่อ้างเป็นเจ้าของนั้นบอกว่า ลูกสัตว์ตัวดังกล่าวนั้น ไม่ใช่ลูกเสือ แต่เป็นตัวไลเกอร์ ซึ่งเป็นสัตว์ผสมระหว่างสิงโตกับเสือโคร่ง 

โดยหากเป็นเช่นนี้ จะทำให้กรมอุทยานฯเอาผิดอะไรไม่ได้ เนื่องจากกฏหมายไม่ได้ครอบคลุมถึงตัวไลการ์ ที่ไม่ได้เป็นทั้งสิงโต และเสือโคร่ง ซึ่งเบื้องต้นก็ต้องตรวจสอบว่าเป็นไลการ์จริงหรือไม่ เรื่องนี้ถือว่าเรื่องใหญ่ เพราะต่อไป ใครกระทำการเช่นนี้ ในเมื่อกฎหมายครอบคลุมไม่ถึงก็จะเกิดอันตรายได้ ทั้งคนเลี้ยงเอง และภายในชุมชน"

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้หาข้อมูลเพิ่มเติม ก็พบว่า ทาง สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า (Wildlife Conservation Office,Thailand) ได้เคยระบุถึง สัตว์เลือดผสม Liger (ไลเกอร์) และ Tigon (ไทกอน) เอาไว้ว่า  "Liger (ไลเกอร์) และ Tigon (ไทกอน) เป็นลูกที่เกิดจากการผสมเทียม ของ สิงโตกับเสือโคร่ง  Liger( ไลเกอร์) นั้นเกิดมาจาก สิงโตตัวผู้ และ เสือโคร่งตัวเมีย

ไลเกอร์ มีลายมาจากแม่ ได้แผงขนหนา ๆ มาจากพ่อ และมีแนวโน้มจะเติบโตจนมีขนาดใหญ่เกิน ไลเกอร์ตัวเดียวอาจมีน้ำหนักได้มากพอ ๆ กับสิงโตและเสือโคร่งรวมกัน สถิติโลกของไลเกอร์ ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นของไลเกอร์ที่มีชื่อว่า เฮอคิวลีส มันมีความยาวถึง 3.6 เมตร และหนักถึง 408 กิโลกรัม แมวขนาดมหึมานี้ดูน่าอัศจรรย์ แต่ขนาดใหญ่โตของมันก็มาพร้อมกับปัญหาสุขภาพ และมักจะอายุสั้น

Tigon (ไทกอน) นั้นเกิดมาจาก เสือโคร่งตัวผู้ และ สิงโตตัวเมีย ไทกอน  มีลาย และเพศผู้มีแผงขนสั้น ๆ โดยปกติไทกอนมีขนาดพอ ๆ กับพ่อหรือแม่ การผสมลักษณะนี้พบไม่บ่อยเท่าไลเกอร์ (อาจเป็นเพราะมันไม่สามารถเจริญได้จนเต็มวัย) และโชคร้ายที่ไทกอนมีปัญหาสุขภาพเช่นเดียวกับที่พบในไลเกอร์ ไลเกอร์และไทกอน ที่มีในโลกส่วนมากแล้วนั้น เกิดขึ้นจากการผสมเทียม คนเราทั้งสิ้น เพราะในความปกติแล้ว เสือและสิงโต นั้นมีพฤติกรรมไม่เหมือนกัน และยังอยู่อาศัยกันคนละถิ่นคนละภูมิประเทศ"
 

ขอบคุณ มติชนออนไลน์ และ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า

ข่าวยอดนิยม