หน้าแรก > สังคม

"ธันวา" สู้ยิบตา ตัวตึงบึงฉวาก วันนี้หมอทาน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นที่ผิว พร้อมอาบแดดตอนเช้า

วันที่ 19 ธันวาคม 2022 เวลา 06:48 น.


วันที่ 18 ธันวาคม 2565 นายอนันต์ ศรีผุดผ่อง หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์พัฒนาจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก สพ.ญ.ณฐนน ปานเพ็ชร นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก ภายใต้การกำกับการของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) และ กลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ได้ร่วมกันดูแลรักษาช่วยเหลือลูกช้างป่าพลัดหลง มีอาการป่วยและบาดเจ็บ ชื่อ "ธันวา" เพศเมีย มีรายงานดังต่อไปนี้

วันที่ 17 ธ.ค. 2565  เวลา 06.00 - 00.00 น.
ลูกช้าง ถ่ายอุจจาระเหลวเป็นเนื้อครีม สีปกติ ปัสสาวะปกติ สัตวแพทย์ได้ทำการให้สารน้ำเข้าทางก้น ป้อนน้ำ และเกลือแร่ให้ถี่ขึ้น ไม่สามารถให้สารน้ำเข้าทางหลอดเลือดดำบริเวณใบหูได้ เนื่องจากการให้สารน้ำทุกวันผ่านทางหลอดเลือดดำบริเวณใบหู จะส่งผลให้เส้นเลือดเสียหาย ต้องรอการหายดีของเส้นเลือด ประมาณ 3-5 วัน
โดยอาหารให้กินน้ำต้มข้าว เนื้อข้าวต้มเปื่อย และนม ทุก 2 ชั่วโมง ( น้ำข้าวต้ม 500 มิลลิลิตร และ เนื้อข้าวต้ม 16 ช้อน ต่อ 1 มื้อ) และทำการให้ยาฆ่าเชื้อวิตามิน ยาลดกรด และยาขับลมแบบกิน ทำการตรวจเช็คระดับกลูโคสในกระแสเลือด 1 ครั้ง อยู่ในระดับ 63 mg/dL ( ระดับปกติ 80-120 mg/dL)

การลุกนั่ง ยังคงต้องใช้การพยุงตัวช่วยในการลุก นั่ง ยืน เดิน ช้างป่ามีเรี่ยวแรงและกำลังมากขึ้น เดินได้ไกลขึ้น (แต่ยังคงต้องพยุงตัว) เมื่อเรียกชื่อมีการร้องตอบพี่เลี้ยงได้มากขึ้น
ทั้งนี พ.ญ.ลาดทองแท้ มีพันธุ์ สัตวแพทย์ประจำมูลนิธิพระคชบาล เข้าร่วมทำการรักษา ซึ่งทีมสัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติพุเตย ยังคงต้องดูแลลูกช้างป่า (ธันวา) อย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชั่วโมง

เครดิต
NuNa Silpa-archa
สวนสัตว์บึงฉวาก จังหวัดสุพรรณบุรี

ข่าวยอดนิยม