หน้าแรก > สังคม

อาลัย "แม่กิมไล้" ตำนานขนมหม้อแกง ของฝากเมืองเพชร ถึงแก่กรรม วัย 90 ปี

วันที่ 23 เมษายน 2024 เวลา 16:58 น.


23 เม.ย.2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม่กิมไล้ บุญประเสริฐ หรือชื่อเดิม น.ส.ไล้ ตะบูนพงษ์ ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อช่วงค่ำวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา ณ ร้านแม่กิมไล้ สาขาท่ายาง จ.เพชรบุรี สิริอายุ 90 ปี  สำหรับ “แม่กิมไล้ บุญประเสริฐ” ชื่อนี้เป็นที่รู้จักในฐานะหญิงนักสู้ชีวิตด้วยความยากลำบาก มีความเข้มแข็ง อดทน ทำงานตรากตรำอาบเหงื่อต่างน้ำ เร่หาบและรุนรถเข็นขนมขายแถวริมฟุตปาธและในตลาดเมืองเพชรบุรีตั้งแต่เช้าจรดค่ำ จนสามารถฟันฝ่าอุปสรรคและสามารถผ่านเส้นชัยชีวิตได้เป็น เจ้าของธุรกิจร้านขายขนมหวานพื้นเมืองและของฝาก-ของที่ระลึกของเมืองเพชรบุรี ภายใต้แบรนด์ “แม่กิมไล้” ด้วยความหวานหอมของขนมหม้อแกงสูตรความอร่อยที่ลงตัวและไม่มีใครเหมือน ทำให้หลายคนติดใจจนกลายเป็นสินค้าขึ้นชื่อประจำจังหวัดเพชรบุรีมาจนถึงปัจจุบัน
แม่กิมไล้ มีชื่อ-สกุลเดิมว่า น.ส.ไล้ ตะบูนพงษ์ เกิดเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2477 ที่ ต.บางตะบูน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี เป็นบุตรสาวคนที่ 6 จากจำนวนพี่น้อง 7 คนของ นายหมู-นางแดง ตะบูนพงษ์ ครอบครัวของแม่กิมไล้ค่อนข้างมีฐานะ บิดา-มารดาประกอบอาชีพทำขนมไทยขายในชุมชนสองฟากฝั่งริมแม่น้ำปากอ่าวบางตะบูน และในงานประจำปีตามวัดต่าง ๆ เช่นวัดเขาตะเครา วัดปากอ่าวบางตะบูน และวัดเขายี่สาร เป็นต้น

แม่กิมไล้เริ่มการศึกษาที่ โรงเรียนวัดปากอ่าว (ญาณสาครวิทยาคาร) ต.บางตะบูนออก อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ช่วงวันหยุดจะร่วมกับ น.ส.ลั้ง ตะบูนพงษ์ หรือ “แม่กิมลั้ง” ผู้เป็นพี่สาว พายเรือนำขนมไปขายให้แก่ชาวบ้านในชุมชนสองฟากฝั่งริมแม่น้ำปากอ่าวบางตะบูน หลังจากเรียนจบชั้น ป.4 ที่โรงเรียนวัดปากอ่าวแล้ว แม่กิมไล้ได้พบรักกับ จ.ส.ต.กลม บุญประเสริฐ ซึ่งรับราชการเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ที่ สภ.ต.บางตะบูน แต่มารดาไม่ชอบลูกเขยที่เป็นตำรวจยศต่ำ และหมายมั่นจะให้บุตรสาวแต่งงานกับชายคนหนึ่งที่มีอายุแก่กว่ากัน 22 ปี แต่แม่กิมไล้ปฏิเสธ เนื่องจากไม่ได้รักชอบผู้ชายที่มารดาเลือกให้ ประกอบกับ จ.ส.ต.กลม ย้ายมาประจำอยู่ที่ สภ.อ.เมืองเพชรบุรี นางไล้จึงหนีตาม จ.ส.ต.กลมมาใช้ชีวิตด้วยกันในตัวเมืองเพชรบุรี ขณะมีอายุได้ 18 ปี 

เริ่มแรกทั้งคู่ได้เช่าบ้านพักอาศัยอยู่ในซอยหน้าวัดมหาธาตุ วรวิหาร ต.คลองกระแชง อ.เมือง จ.เพชรบุรี ขณะนั้นแม่กิมไล้มีชีวิตที่แสนจะลำบาก เงินทองก็ไม่มีใช้ เพราะสามีทำงานคนเดียว เงินเดือนก็น้อยเพียงเดือนละ 7.50 บาทเท่านั้น กับข้าวแต่ละวันจะมีเพียงปลาสีกุนกับนำพริกและผักที่หาเก็บเอาตามข้างบ้าน แต่ถึงแม้ชีวิตจะลำบากแค่ไหน แม่กิมไล้ก็ไม่เคยปริปากบอกใครและไม่คิดที่จะไปขอความช่วยเหลือจากใครด้วย เมื่อลูกคนแรกอายุได้ 9 ปี แม่กิมไล้เห็นว่าตนควรคิดหาอะไรทำ เพื่อเป็นการช่วยเพิ่มพูนรายได้ให้แก่ครอบครัวอีกทางหนึ่ง ประกอบกับแม่กิมไล้มีความรู้ในเรื่องการทำขนมหวานที่เรียนรู้จากมารดามาตั้งแต่เด็ก จึงตัดสินใจทำขนมขาย โดยนำเงินทุนเท่าที่มีอยู่ไปซื้ออุปกรณ์และวัตถุดิบมาทำ ทั้งขนมกล้วย ขนมเทียน ขนมตาล และข้าวต้มมัด เสร็จแล้วเดินหาบไปนั่งขายแถวริมฟุตปาธและตามตลาดในตัวเมืองเพชรบุรี ตั้งแต่เช้าจรดค่ำเป็นประจำทุกวัน

การทำขนมขายในระยะแรกยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร แต่แม่กิมไล้ก็ไม่ย่อท้อ ยังคงก้มหน้าก้มตาทำขนมต่อไป โดยมีลูกๆ คอยช่วยเหลือเท่าที่พอจะช่วยได้ ส่วนสามีหลังเลิกจากหน้าที่การงานก็จะมาช่วยตัดทางมะพร้าว ฉีกใบตอง คั้นกะทิ และช่วยห่อขนม แม่กิมไล้อดทนต่อสู้กับความยากจน มุ่งมั่นในการทำขนมแบบอดตาหลับขับตานอน จนเริ่มประสบผลสำเร็จ จากขนมที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก ก็เริ่มเป็นที่กล่าวขานของชาวตลาดเมืองเพชรบุรี ขนมห่อที่เคยหาบเพียงเล็กน้อยก็ค่อยๆ เพิ่มจำนวนมากขึ้น จากที่เคยหาบขนมขายจนหลังแอ่นก็ต้องเปลี่ยนมาใช้เป็นรถเข็นแทน

แม่กิมไล้ เปลี่ยนแนวคิดจากการทำขนมห่อ หันมาทำขนมหวานจำพวก ทองหยิบ ฝอยทอง ลูกชุบ บ้าบิ่น สังขยา ขนมหม้อแกง ฯลฯ โดยลองผิดลองถูกอยู่นานจนได้รสชาติของขนมที่อร่อยถูกปากลูกค้า จากนั้นว่าจ้างช่างที่หน้าวัดยางต่อรถเข็นใส่ตู้กระจก เพื่อใส่ขนมหวานแล้วเข็นออกไปขายอยู่ที่หน้าวัดมหาธาตุวรวิหาร จ.เพชรบุรี ต่อมา พระเทพวงศาจารย์ หรือ “หลวงพ่ออินทร์” เจ้าคณะจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดยาง ในขณะนั้น ผ่านมาเห็นและทักทายกับแม่กิมไล้ว่า จะรวยกันใหญ่แล้ว พร้อมตั้งชื่อให้ว่า “แม่กิมไล้” เป็นชื่อสิริมงคล สำหรับการค้าขายขนมหวานมาจนถึงปัจจุบัน

ขนมหวานของแม่กิมไล้เริ่มขายดิบขายดีเป็นที่โจทย์ขานของชาวเมืองเพชรบุรี ส่งผลให้แม่กิมไล้เริ่มมีเงินมีทองเก็บ กระทั่งในปี 2515 จึงขยายกิจการเปลี่ยนจากรถเข็นไปขอเช่าพื้นที่เปิดร้านขายขนมหวานที่หน้าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดเพชรบุรี ใกล้โรงค้าไม่ซุ่นเฮงหลี ในซอยข้างธนาคารออมสิน สาขาสะพานจอมเกล้า

สมัย นายเอนก พยัคฆันตร์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี จัดงานกาชาด ณ สนามหน้าเขาวัง (พระนครคีรี) ภายในงานจัดให้มีการประกวดการทำขนมไทยเมืองเพชร โดยกำหนดให้ทำขนมหม้อแกงสูตรของตัวเอง ซึ่ง ครูทิม วรรณคีรี อาจารย์ใหญ่โรงเรียนวัดดอนไก่เตี้ย ในขณะนั้น นำ “ขนมหม้อแกงของแม่กิมไล้” ส่งเข้าประกวด เมื่อคณะกรรมการ ชิมขนมหม้อแกงของแม่กิมไล้เห็นว่ามีรสชาติหวานมัน หอมกลมกล่อม และมีความอร่อยเป็นเอกลักษณ์ จึงตัดสินให้ขนมหม้อแกงแม่กิมไล้ได้รับรางวัล “ชนะเลิศ”

จากนั้นมาขนมหม้อแกงแม่กิมไล้ เริ่มเป็นที่รู้จักของผู้คนและมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วประเทศ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ยังเคยให้ทหารมาซื้อไปลิ้มลองอยู่บ่อยครั้ง
รวมถึง นายสมจิตร พวงมณี ผู้กว้างขวางสมัยนั้นก็เคยซื้อไปฝาก พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร, จอมพล ถนอม กิตติขจร และ จอมพล ประภาส จารุเสถียร ตลอดจน นายปิยะ อังกินันทน์ ก็ซื้อไปฝาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรี อยู่เป็นประจำอีกด้วย ทำให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายยิ่งขึ้น

ต่อมาในปี 2517 แม่กิมไล้เห็นว่าธุรกิจการทำขนมหวานเริ่มเจริญเติบโตเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายจึงไปซื้อตึกแถวอาคารวัชรเสวีของ นายแพทย์อภิชัย สิริอักษร ที่หน้าเขาวัง ฝั่งตรงข้ามกับร้านขนมเพชรปิ่นแก้ว เปิดเป็นร้านขายของฝากเป็นแห่งแรก ก่อนขยายไปเปิดที่ฝั่งตรงข้ามอีก 1 ร้าน จนธุรกิจเริ่มเจริญรุ่งเรือง มีลูกค้าและนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก  

ปัจจุบันแม่กิมไล้จึงได้ขยายสาขาเพิ่มอีก 4 สาขา ประกอบด้วยสาขา ต.หัวสะพาน อ.เมืองเพชรบุรี สาขา ต.เขาทโมน อ.บ้านลาด สาขา ต.ท่ายาง และสาขา ต.ไร่ส้ม รวม 5 สาขา โดยมีลูกหลานร่วมด้วยช่วยกันบริหารจนกิจการรุ่งเรืองมาถึงปัจจุบันนี้

 

ข่าวยอดนิยม