หน้าแรก > อาชญากรรม

จับบุหรี่ไฟฟ้า ใกล้ ม.ดังย่านรามคำแหง-ลาดพร้าว ยึดของกลางกว่าหมื่นชิ้น มูลค่ากว่า 3 ล้านบาท

วันที่ 20 เมษายน 2567 เวลา 23:25 น.


จับบุหรี่ไฟฟ้า ใกล้ ม.ดังย่านรามคำแหง-ลาดพร้าว ยึดของกลางกว่าหมื่นชิ้น มูลค่ากว่า 3 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2567 เวลา 11.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล ดร.พวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ รอง ผอ.ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อควบคุมยาสูบ (สจย.) นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ร่วมแถลงข่าวการดำเนินการจับกุมร้านค้าที่ลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าบริเวณสถานศึกษาและพื้นที่ชุมชน จากการลงพื้นที่เมื่อช่วงค่ำที่ผ่านมา

จากการที่ สคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนและข้อกังวลจากผู้ปกครองนักเรียน ว่ามีการลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าใกล้เคียงบริเวณสถานศึกษาและในพื้นที่ชุมชนเป็นจำนวนมาก ช่วงค่ำของคืนที่ผ่านมา (18 เมษายน 2567) ดร.พวงเพ็ชร จึงสั่งการให้ทางศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ สคบ. นำโดย นายเลิศศักดิ์ รักธรรม รองหัวหน้าศูนย์ฯ เร่งตรวจสอบ โดยได้สนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.วังทองหลาง และ สน.ลาดพร้าว ลงพื้นที่เป้าหมายย่านรามคำแหงและย่านลาดพร้าว ซึ่ง ดร.พวงเพ็ชร พร้อมด้วย นายวราวุธ ยันต์เจริญ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมลงพื้นที่ครั้งนี้ด้วย

จากการลงพื้นที่สามารถจับกุมร้านค้าที่ลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าได้ทั้งหมด 5 ร้านค้า ประกอบด้วย ร้านใน ซ.รามคำแหง 53 จำนวน 1 ร้าน, ร้านใน ซ.รามคำแหง 65 (ซอยมหาดไทย) จำนวน 2 ร้าน, ร้านใน ซ.ลาดพร้าว 101  จำนวน  1 ร้าน และ ร้านใน ซ.ลาดพร้าว 107  จำนวน 1  ร้าน สามารถยึดของกลางเป็นบุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าได้ 22 กระสอบ หรือกว่า 10,000 ชิ้น คิดเป็นมูลค่ากว่า 3 ล้านบาท

ดร.พวงเพ็ชร กล่าวว่า รัฐบาลเร่งปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจัง และจะมีการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการติดตามจับกุมการลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในพื้นที่ใกล้เคียงสถานศึกษาและเขตชุมชน ในส่วนของ สคบ. ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ สคบ. และมีการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ทั้งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงสมาคมและมูลนิธิต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งสิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ตอนนี้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นภัยคุกคามสำคัญที่ทำร้ายเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นอนาคตของชาติ  จึงขอความร่วมมือทุกฝ่าย หากพบเห็นการลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าทั้งทาง Online และแบบมีหน้าร้าน หรือในสถานศึกษา สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ สายด่วย สคบ. 1166  แอปพลิเคชัน OCPB Connect  ไลน์ @TraffyFondue ของ กทม.  และสถานีตำรวจทุกแห่ง

การจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้ามีความผดตามกฎหมาย ดังนี้ 1. ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่ และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในประเทศ 2. คำสั่งของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า “บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า”  และ 3. พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 มาตรา 4 เพราะน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินเป็นส่วนประกอบ หากสูบในพื้นที่ห้ามสูบตามกฎหมาย ตามมาตรา 67 จะมีฐานความผิดการห้ามสูบในที่สาธารณะ

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม