วันที่ 5 เมษายน 2567 เวลา 20:15 น.
อีกหนึ่งก้าวที่ยิ่งใหญ่ด้านอวกาศของประเทศไทย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเป็นสักขีพยาน พิธีลงนามความร่วมมือไทย - จีน ภายใต้โครงการจัดตั้งสถานีวิจัยนานาชาติบนดวงจันทร์ (ILRS) ระหว่างกระทรวง อว. โดย สดร. และองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือด้านอวกาศ ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) แห่งราชอาณาจักรไทย โดย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) และองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) ภายใต้โครงการจัดตั้งสถานีวิจัยนานาชาติบนดวงจันทร์ (ILRS) เพื่อพัฒนาขีดความสามารถแก่บุคลากรในสาขาวิทยาศาสตร์อวกาศ เทคโนโลยีอวกาศ และการประยุกต์ใช้อวกาศเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ รวมถึงกระชับความร่วมมือไทย - จีนในด้านอวกาศของทั้งสองประเทศ อย่างยั่งยืน
พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสถานีวิจัยนานาชาติบนดวงจันทร์ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2567 ณ ศูนย์สำรวจดวงจันทร์และวิศวกรรมอวกาศ สังกัดองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นสักขีพยาน โดยมีนายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวง อว. ฝ่ายไทย และ นายจาง เคอเจี้ยน ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารอวกาศแห่งชาติจีน เป็นผู้แทนลงนาม โอกาสนี้ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานทั้งสองประเทศ เฝ้าฯ รับเสด็จ และร่วมเป็นสีกขีพยานในครั้งนี้ด้วย
บันทึกความร่วมมือดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อวางรากฐานเพื่อการพัฒนา และยกระดับความร่วมมือที่ก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันระหว่างกระทรวง อว. และ CNSA ด้านการสำรวจและการใช้อวกาศส่วนนอกเพื่อสันติ ประสานความร่วมมือและสนับสนุนกิจกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในสาขาวิทยาศาสตร์อวกาศ เทคโนโลยีอวกาศ และการประยุกต์ใช้อวกาศเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ รวมถึงเพื่อกระชับความร่วมมือไทย - จีนในด้านอวกาศอย่างยั่งยืน
ขอบเขตความร่วมมือครอบคลุม 5 สาขา ได้แก่
ทั้งหมดนี้ มีกรอบการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือ ครอบคลุมถึงการวางแผนและดำเนินโครงการร่วมด้านอวกาศ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการฝึกอบรมบุคลากร รวมถึงการการใช้อุปกรณ์ เอกสาร ข้อมูล ผลการทดลองและข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ร่วมกัน การจัดประชุมวิชาการ/ เชิงปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์ เป็นต้น โดยกระทรวง อว. และ CNSA จะส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือระหว่างองค์กร สถาบันและหน่วยงานในภาคอุตสาหกรรมของไทย - จีน รวมทั้งสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์วิจัยหรือห้องปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินโครงการร่วมระหว่างหน่วยงาน
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวว่า วันนี้นับเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญที่จะถูกจารึกอยู่ในประวัติศาสตร์บนเส้นทางร่วมกันของไทยและจีน ด้วยความก้าวหน้าทางด้านการสำรวจอวกาศของจีนนั้นล้ำหน้าไปกว่าไทยมาก เป็นที่แน่ชัดว่าไทยจะได้ประโยชน์ จากการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ที่จีนสั่งสมมาหลายทศวรรษ อย่างไรก็ตาม ผลสัมฤทธิ์สูงสุดที่มุ่งหวัง คือ การทำงานร่วมกันแน่นแฟ้นของนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย วิศวกร นักศึกษา ไทยและจีน ที่จะผูกสร้างสายสัมพันธ์ของประชาชนสองชาติ ในการนี้ กระทรวง อว. และรัฐบาลไทย พร้อมให้การสนับสนุนความร่วมมือด้านอวกาศระหว่างจีนและไทยเป็นอย่างยิ่ง
นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่าความร่วมมือด้านอวกาศเป็นสาขาที่ไทยและจีนเห็นพ้องกันว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และกำลังคน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ดังจะเห็นได้จากการบรรจุความร่วมมือด้านอวกาศเป็นสาขาความร่วมมือใหม่ระหว่างไทยและจีน ในการประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-จีน เพื่อความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีครั้งที่ 4 เมื่อเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา
กระทรวง อว. มีความร่วมมือกับหน่วยงานด้านอวกาศของจีนอย่างแน่นแฟ้น นับตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งเป็นความร่วมมือในระดับหน่วยงาน อาทิ การนำข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมมาใช้ประโยชน์ด้านภูมิสารสนเทศ ระหว่างสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ และสถาบันวิจัยสารสนเทศอวกาศ ภายใต้สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน การสร้างดาวเทียมสำรวจโลก และพัฒนาทัศนูปกรณ์ทางแสงสำหรับปฏิบัติภารกิจในอวกาศ (TSC-Pathfinder) ในโครงการภาคีความร่วมมืออวกาศไทย ระหว่างสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และ สถาบันทัศนศาสตร์ เครื่องกลความแม่นยำสูง และฟิสิกส์ ภายใต้สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน การสร้างและติดตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุในไทย เพื่อใช้สังเกตการณ์วัตถุอวกาศ วัดการเคลื่อนที่ของเปลือกโลกอย่างแม่นยำ ร่วมกับหอดูดาวนครเซี่ยงไฮ้ เป็นต้น และขณะนี้ที่กำลังดำเนินการอยู่ คือความร่วมมือพัฒนาอุปกรณ์ปฏิบัติภารกิจวิทยาศาสตร์สำหรับยานฉางเอ๋อ-7 ระหว่างสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจอวกาศห้วงลึก สำนักงานบริหารอวกาศแห่งชาติจีน ซึ่งนำมาสู่การลงนามในความร่วมมือในวันนี้
การยกระดับความร่วมมือจากระหว่างหน่วยงานเป็นระดับรัฐในครั้งนี้ จะครอบคลุมในภาพรวมตั้งแต่การนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศมาใช้ประโยชน์ในภาคส่วนต่าง ๆ ภายใต้การนำของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ไปจนถึงด้านการสำรวจอวกาศและวิทยาศาสตร์อวกาศ ภายใต้การนำของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ที่จะร่วมกันขับเคลื่อนให้ความร่วมมือดังกล่าวประสบผลสำเร็จอย่างก้าวกระโดด เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างสองชาติอย่างเข้มข้นและมิตรภาพที่แน่นแฟ้น และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนของทั้งสองชาติ
ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า ความร่วมมือด้านอวกาศระหว่างไทยกับจีนครั้งนี้ สำเร็จได้ด้วยพระบารมีของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับจีนมาเป็นเวลาช้านาน นอกจากนี้ ยังเป็นการแสดงศักยภาพของนักวิทยาศาสตร์ และวิศวกรไทยอย่างแท้จริง จนได้รับการยอมรับจากประเทศจีนที่มีความก้าวหน้าด้านการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งยังประสบความสำเร็จด้านเทคโนโลยีการสำรวจอวกาศในหลายภารกิจ นับเป็นการยกระดับขีดความของไทยที่จะนำพาประเทศสู่ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อการพึ่งพาตนเองต่อไปในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับหลักการดำเนินงานของ สดร. ที่มุ่งพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงสุด อันจะสร้างองค์ความรู้ และพัฒนาบุคลากรของไทย ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
โอกาสนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชมศูนย์ประกอบและทดสอบอวกาศยานและดาวเทียม ภายใต้องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) ทรงทอดพระเนตรนิทรรศการแบบจำลองทางวิศวกรรมของยานฉางเอ๋อ 7 ภารกิจของยานลำนี้ ได้แก่ การสำรวจภูมิประเทศของดวงจันทร์ องค์ประกอบของวัสดุ และสภาพแวดล้อมของอวกาศที่ขั้วใต้ของดวงจันทร์ โดยติดตั้งอุปกรณ์วิทยาศาสตร์และวิจัย (Payload) เพื่อรองรับภารกิจหลักดังกล่าว ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ และวิศวกรไทยนำโดย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยมหิดล ได้เสนออุปกรณ์สำรวจสภาพอวกาศ ระหว่างโลกและดวงจันทร์ ตรวจวัดรังสีคอสมิก และติดตามผลกระทบที่มีต่อโลก (Sino-Thai Sensor Package for Space Weather Global Monitoring) ผ่านพิจารณาและได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 7 อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่จะติดตั้งไปกับยานดังกล่าว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาเชิงวิศวกรรมร่วมกันระหว่างสองประเทศ และทางจีนมีแผนจะส่งไปสำรวจดวงจันทร์ภายในปี 2569
ภาพ/ข่าว : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ