หน้าแรก > ภูมิภาค

ยโสธรประกาศ 9 อำเภอ เป็นพื้นที่ "ประสบภัยสาธารณะ" พื้นที่เกษตรจมน้ำแล้ว 1.3 แสนไร่

วันที่ 10 ตุลาคม 2023 เวลา 10:03 น.


ยโสธรประกาศ 9 อำเภอ เป็นพื้นที่ "ประสบภัยสาธารณะ และเขตการให้ความช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน" ล่าสุดพื้นที่เกษตรจมน้ำแล้ว 1.3 แสนไร่

10 ตุลาคม 2566 นายสุวัฒน์ เข็มเพชร รองผู้ว่าราชการจังหวัด รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร ออกประกาศจังหวัดยโสธร เรื่อง เขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย/ เขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) เป็นรายอำเภอทั้ง 9 อำเภอ ด้วยได้เกิดเหตุอุทกภัย เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวตังเกี๋ย ส่งผลให้บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำลันตลิ่ง ในพื้นที่จังหวัดยโสธร

ซึ่งภัยดังกล่าว เป็นสาธารณภัย/ภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเรือน ชีวิต ทรัพย์สิน พื้นที่ทางการเกษตร,ประมง,ปศุสัตว์และสิ่งสาธารณประโยชน์เพื่อประโยชน์ในการจัดการสาธารณภัยให้เป็นไปตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ และการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน เร่งด่วน อาศัยอำนาจตามความใน ข้อ 20 วรรคสาม ของระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2566 ประกอบกับแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัด/ผู้อำนวยการจังหวัด จึงประกาศให้พื้นที่ทั้ง 9 อำเภอ ของจังหวัดยโสธรเป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย/ เขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย)

ซึ่งมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบด้านการเกษตร จำนวน 9 อำเภอ 55 ตำบล 347 หมู่บ้าน มีราษฎรได้รับผลกระทบ จำนวน 15,363 ครัวเรือน พืชผลทางการเกษตรได้รับผลกระทบแยกเป็นนาข้าว จำนวน 125,991 ไร่ และพืชไร่ พืชสวน จำนวน 5,468.25 ไร่ รวมทั้งสิ้น จำนวน 131,419.25 ไร่ เพื่อให้ส่วนราชการหน่วยงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เข้าดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในเขตพื้นที่ประสบภัยดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และแผนอื่นที่เกี่ยวข้องตลอดจนกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง ประกาศ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว และดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด

ทั้งนี้ ต้องไม่เกิน 3 เดือนนับแต่วันที่เกิดภัย

 

ข่าวยอดนิยม