หน้าแรก > สังคม > สุขภาพ

สธ.รับมอบวัคซีนโควิด-19 ไบวาเลนท์จากเยอรมนี 999,360 โดส คาดกระจายถึงหน่วยบริการใน มิ.ย.นี้

วันที่ 22 มิถุนายน 2566 เวลา 11:50 น.


รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รับมอบวัคซีนโควิด-19 ไบโอเอ็นเทค (ไฟเซอร์) รุ่นไบวาเลนท์ จากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี จำนวน 999,360 โดส เตรียมตรวจสอบคุณภาพและกระจายลงพื้นที่ภายในมิถุนายนนี้ เพื่อสนับสนุนการฉีดวัคซีนโควิดประจำปี ช่วยลดอาการรุนแรงและเสียชีวิต

วันนี้ (22 มิถุนายน 2566) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นายอสิ ม้ามณี อธิบดีกรมยุโรป และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ร่วมทำพิธีรับมอบวัคซีนโควิด-19 ชนิดวัคซีนไบโอเอ็นเทค (ไฟเซอร์) รุ่นไบวาเลนท์ จากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยมี นายเก-ออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย และ นายฮานส์ อูลริช ซืดเบค อุปทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย เป็นผู้แทนส่งมอบ

นายอนุทินกล่าวว่า ประเทศไทยและเยอรมนีมีความสัมพันธ์มายาวนานกว่า 160 ปี และมีความร่วมมือครอบคลุมหลายด้านอย่างแน่นแฟ้น เช่น การทูต เศรษฐกิจ การศึกษา สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีและนวัตกรรม การเกษตร รวมถึงด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่มีความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียนผ่านโครงการ “เสริมสร้างการประสานงานของอาเซียนเพื่อตอบโต้และรับมือกับการระบาดใหญ่ของโควิด 19 และเหตุฉุกเฉินอื่นๆ ในด้านสาธารณสุข” โดยเยอรมนีได้สนับสนุนและช่วยเหลือประเทศไทยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 มาแล้ว 2 ครั้ง ได้แก่ ยารักษาอาการโควิด-19 โมโนโคลนอลแอนติบอดี (Casirivimab/Imdevimab) จำนวน 2 พันยูนิต และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 346,100 โดส พร้อมตู้แช่แข็งอุณหภูมิต่ำเพื่อจัดเก็บวัคซีน จำนวน 4 ตู้ เข็มฉีดยาและกระบอกฉีดยาแบบ Loe Dead Space จำนวนกว่า 5.1 หมื่นชุด ทำให้สามารถนำมาช่วยดูแลประชาชนในช่วงเวลาวิกฤตได้ สำหรับการสนับสนุนประเทศไทยวันนี้เป็นครั้งที่ 3 ได้มอบวัคซีนไบโอเอ็นเทค (ไฟเซอร์) รุ่นไบวาเลนท์ จำนวน 999,360 โดส แสดงถึงน้ำใจที่ยิ่งใหญ่จากมิตรประเทศ ทำให้เรามีความมั่นคงด้านวัคซีนมากขึ้น โดยจากนี้จะมีการตรวจสอบคุณภาพวัคซีนและกระจายไปยังพื้นที่ เพื่อสนับสนุนนโยบายการฉีดวัคซีนโควิดประจำปีต่อไป คาดว่าจะถึงทุกหน่วยบริการภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้

“แม้องค์การอนามัยโลก (WHO) จะยกเลิกการประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นเหตุฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ แต่โรคโควิด-19 ไม่ได้หายไปไหน และยังเป็นโรคหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้แต่ละประเทศจัดบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ประชาชน เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เป็นต้น ประเทศไทยจึงจัดให้มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นวัคซีนประจำปี โดยสามารถฉีดร่วมกับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ ซึ่งเริ่มให้บริการตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อลดอาการป่วยหนักและเสียชีวิต” นายอนุทินกล่าว

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม