หน้าแรก > อาชญากรรม

สตช.เตือนภัยออนไลน์ 'ต๋อง ศิษย์ฉ่อย' ถูกหลอกสูญเงินไป 3.2 ล้าน

วันที่ 23 พฤษภาคม 2023 เวลา 12:58 น.


วันนี้ (23 พ.ค.66) พลตำรวจเอก สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี แถลงกรณีแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงให้นายวัฒนา ภู่โอบอ้อม หรือ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย โอนเงินให้จำนวน 3 ล้าน 2 แสนบาท

พฤติการณ์แก๊งค์คอลเซ็นเตอร์รายนี้ได้แอบอ้างเป็นตำรวจ โทรศัพท์ไปข่มขู่นายวัฒนาว่าไปเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดและฟอกเงิน โดยมิจฉาชีพคนที่หนึ่งแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงไทยโทรศัพท์ไปหานายวัฒนาว่าค้างชำระบัตรเครดิต หากไม่ได้ใช้บัตรเครดิตแสดงว่ามี บุคคลอื่นนำบัตรเครดิตไปใช้ จึงแนะนำให้ไปแจ้งความที่ สภ.เมืองนครสวรรค์ ซึ่งเป็นท้องที่เกิดเหตุ จากนั้นได้ต่อสายโทรศัพท์ให้พูดคุยกับมิจฉาชีพคนที่ 2 แอบอ้างเป็น พันตำรวจเอก เสฏฐวุฒิ รอดจันทร์ ผู้กำกับการ สภ.เมืองนครสวรรค์ เนื่องจากเห็นว่าไม่สะดวกเดินทางไปแจ้งความ ระหว่างนั้นวิชาชีพคนที่สามโดยใช้บัญชีแอปพลิเคชันไลน์ชื่อ สภ.เมืองนครสวรรค์ แจ้งมาว่านายวัฒนาเกี่ยวข้องกับคดียาเสพติดและฟอกเงิน ให้ส่งบัญชีธนาคารของนายวัฒนามาให้ตรวจสอบ หากต้องการพิสูจน์ความจริงต้องโอนเงินมาตรวจสอบเส้นทางการเงิน และถ้าตรวจสอบแล้วไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดจะโอนเงินคืนให้ ทำให้ซึ่งนายวัฒนาหลงเชื่อ จึงโอนเงินจากบัญชีธนาคาร 5 บัญชีจำนวน 10 ครั้ง เป็นเงินกว่า 3 ล้าน 2 แสนบาท ให้มิจฉาชีพไป

นายวัฒนา เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาก็ได้รับรู้ข่าวสารว่ามีมิจฉาชีพก่อเหตุหลอกลวงประชาชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตนเองก็พยายามระมัดระวังตัวมาโดยตลอด แต่ก็มาพลาดจนได้ จึงอยากให้ตำรวจติดตามจับกุมมิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์มาลงโทษให้ได้ เผื่อไม่ให้ไปก่อเหตุกับคนอื่นอีก และอยากให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตนเอง เป็นกรณีศึกษาเพื่อไม่ให้มีผู้อื่นตกเป็นเหยื่ออีก

พลตำรวจตรี สุระพรรณ นาทวรทัต ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 4 เปิดเผยถึงความคืบหน้าคดีของนายวัฒนาว่า พนักงานสอบสวน สน.วังทองหลาง ได้ขอศาลอนุมัติหมายจับ 1 คน เป็นบัญชีม้าแถวที่ 1 ที่มีพฤติการหลบหนี และออกหมายเรียกผู้ต้องหาซึ่งเป็นบัญชีม้าแถวที่ 2-4 จำนวน 10 คน โดยอายัดบัญชีทั้งหมดไว้แล้ว ซึ่งพนักงานสอบสวนนัดให้มารายงานตัวในวันที่ 26 และ 29 พฤษภาคมนี้

พลตำรวจเอก สมพงษ์ เปิดเผยว่า ผลการปฏิบัติงานในปราบปรามอาชญากรรมทางออนไลน์ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 14 ถึง 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีสถิติการรับแจ้งความคดีออนไลน์ 5 รูปแบบ ที่มากที่สุดคือ คดีหลอกลวงซื้อขาย สินค้าหรือบริการ รองลงมาคือ หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ, หลอกลวงให้กู้เงิน, ข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน และหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ตามลำดับลงมา

ระหว่างวันที่ 14 ถึง 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีสถิติรับแจ้งความ 4,461 คดี ลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 314 คดี มีมูลค่าความเสียหายกว่า 473 ล้านบาท มูลค่าความเสียหายเพิ่มขึ้นกว่า 46 ล้านบาท

โดยมีการระงับการทำธรุรกรรมและอายัดบัญชีตาม พรก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ห้วงวันที่ 13 มีนาคม ถึง 5 พฤษภาคม มีคดีทั้งหมด 30,439 คดี , ขอระงับอายัดบัญชีจำนวน 16,597 บัญชี, ทำเรื่องขออายัดเงิน ไปทั้งหมด 685,310,290 บาท สามารถอายัดเงินได้ 92,132,049 บาท

ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา ในห้วงวันที่ 17 มีนาคมถึง 17 เมษายนที่ผ่านมา มีการออกหมายจับไป 264 คดี, จับกุมได้ 170 คดี ได้ตัวผู้ต้องหา 137 คน

ข่าวยอดนิยม