หน้าแรก > อาชญากรรม

ปอศ.ทลายเครือข่ายเงินกู้ออนไลน์ พบเงินสะพัดในระบบกว่า 1,000 ล้านบาท

วันที่ 28 มีนาคม. 2566 เวลา 07:41 น.


กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผบก.ปอศ.พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.5 บก.ปอศ. ร่วมกันจับกุม 
1.นายทศพลฯ อายุ 29 ปี  
2.นายยุทธนาฯ อายุ 27 ปี 
3.นายศักดิ์รินทร์ฯ อายุ 29 ปี 
4.นายเกียรติศักดิ์ฯ อายุ 21 ปี

โดยกล่าวหากระทำผิดฐาน ร่วมกันประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาต, เรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด และร่วมกันกระทำการทวงถามหนี้ในลักษณะ การข่มขู่ การใช้ความรุนแรง หรือการกระทำอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น พร้อมพวก อีก 7 ราย ได้แก่
1. นายนฤพนธ์ฯ อายุ 27 ปี
2. นายกฤตฯ อายุ 23 ปี
3. นายสุทัศน์ฯ อายุ 27 ปี
4. นายพรชัยฯ อายุ 29 ปี
5. นายปรีชาฯ อายุ 28 ปี
6. นายชัยชิดฯ อายุ 37 ปี
7. นายคชสารฯ อายุ 21 ปี
ในความผิดฐานร่วมกันประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาต พร้อมตรวจยึดของกลาง ดังนี้

1.คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ 13 เครื่อง
2.โทรศัพท์ 38 เครื่อง
3.ซิมการ์ดประมาณ 50 อัน
4.เช็คค้ำประกันของลูกหนี้ 22 ใบ มูลค่ารวม 7,990,000 บาท
5.รถยนต์หรูยี่ห้อ Mercedes Benz, BMW, TOYOTA, Hyundai ของลูกหนี้ 4 คัน

จับกุมได้ใน พื้นที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ พิจิตร และ จันทบุรี วันที่ 27 มีนาคม 2566

พฤติการณ์ สืบเนื่องมาจาก เมื่อประมาณต้นปี 2565 ได้มีพลเมืองดีซึ่งเป็นผู้ประกอบการ SME (ผู้ประกอบธุรกิจรายย่อย) แจ้งเบาะแสของกลุ่มเครือข่ายเงินกู้ออนไลน์นอกระบบผ่านเว็บไซต์ “Burin-credit” (บุรินทร์เครดิต) มายัง ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปน.ตร.) ซึ่งเครือข่ายดังกล่าวมีพฤติการณ์เรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราที่สูงมาก โดยผู้ประกอบธุรกิจฯ ซึ่งขอกู้นั้น จะต้องจ่ายดอกเบี้ยรายวันในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อวัน หรือ ร้อยละ 547.5 ต่อปี จนกว่าจะมีเงินต้นมาชำระ อันเป็นการคิดดอกเบี้ยที่เอารัดเอาเปรียบ ซ้ำเติมประชาชน และ ผู้ประกอบธุรกิจฯ ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ หลังผ่านวิกฤตโรคระบาดโควิด 19 พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผบก.ปอศ. จึงสั่งการให้ กองกำกับการ 5 กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ดำเนินการสืบสวนสอบสวน และจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

พ.ต.อ.เมฆพิศาล ศรีภิรมย์ ผกก.5 บก.ปอศ. เปิดเผยว่า จากการสืบสวนพบว่ากลุ่มคนร้ายมีการเปิดเว็บไซต์ เพื่อชักชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปกู้เงิน โดยกลุ่มเป้าหมายเน้นไปที่กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยที่ขาดสภาพคล่องทางการเงิน และ ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนถูกกฎหมายได้ ขั้นตอนการอนุมัติสินเชื่อของเว็บไซต์ดังกล่าวไม่จำเป็นต้องใช้หลักฐานยืนยันตัวตน และไม่ต้องใช้คนค้ำประกัน ในกรณีที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจฯ กลุ่มคนร้ายจะไปสำรวจกิจการเพื่อประกอบการพิจารณา เมื่อสินเชื่ออนุมัติแล้วกลุ่มคนร้ายจะโอนเงินไปให้ผู้กู้ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้งของธนาคารไปยังบัญชีธนาคารของผู้กู้ โดยกลุ่มคนร้ายจะหักยอดเงินกู้เป็นดอกเบี้ยงวดแรกไว้ก่อน หากลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ ก็จะใช้วิธีการโทรศัพท์ข่มขู่ และไประรานผู้กู้ถึงที่บ้าน, ที่ทำงาน หรือ สถานประกอบการ ซึ่งการกระทำของกลุ่มคนร้ายเป็นการกระทำที่อุกอาจ ไม่เกรงกลัวกฎหมายบ้านเมือง และจากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบว่ากลุ่มคนดังกล่าวมีเงินหมุนเวียนในบัญชีช่วงระยะเวลา 1 ปี กว่า 1,000 ล้านบาท ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สืบสวนจนสามารถพิสูจน์ทราบกลุ่มผู้ร่วมขบวนการได้แล้ว จำนวน 4 ราย เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ขออนุมัติหมายจับจากศาลอาญา 
ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ทำการสืบสวนจนทราบแหล่งที่กบดานของกลุ่มคนร้าย จนกระทั่งวันที่ 27 มีนาคม 2566 จึงได้นำกำลังเข้าปิดล้อมตรวจค้น บ้านพัก และ สำนักงานของกลุ่มคนร้าย

จากการสอบสวนเบื้องต้น ผู้ต้องหารับว่าเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับจริง และได้ประกอบธุรกิจสินเชื่อโดยไม่ได้รับอนุญาต และเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด โดยนายศักดิ์รินทร์ฯกับพวก ได้ลักลอบประกอบธุรกิจให้สินเชื่อผ่าน เพจเฟสบุ๊ค ให้ผู้ประกอบธุรกิจฯยืมเงิน โดยคิดอัตราดอกเบี้ย รายวันในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อวัน หรือ ร้อยละ 547.5 ต่อปี จนกว่าจะมีเงินต้นมาชำระคืน หากขอกู้ในวงเงินที่สูงจะให้ผู้กู้ออกเช็คค้ำประกันเงินกู้ไว้ หรือหากมีทรัพย์สินอื่นๆ เช่น รถยนต์ จะให้นำมาจอดไว้เพื่อเป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงิน จากนั้นได้เชิญตัวพร้อมของกลางนำส่งพนักงานสอบสวน กก.5 บก.ปอศ. ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม