วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 13:19 น.
กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) แถลงข่าวจับกุมและตรวจยึดตู้เคธี่ปันสุขK4 และร่วมกันจับกุม นางสาวเร(นามสมมุติ) อายุ 45 ปี และนางสาวพอ(นามสมมุติ) อายุ 30 ปี พร้อมตรวจยึดของกลางจำนวน 413 รายการ รวมมูลค่าทรัพย์สินประมาณ 50 ล้านบาท
โดยมีทรัพย์สินที่ตรวจยึดที่น่าสนใจดังนี้
1.รถยนต์ จำนวน 11 คัน
- รถยนต์ตู้ยี่ห้อโตโยต้า รุ่น อัลพาร์ด จำนวน 2 คัน
- รถยนต์ยี่ห้อบีเอ็มดับเบิ้ลยู จำนวน 6 คัน
- รถยนต์ยี่ห้อซูซุกิ จำนวน 1 คัน
- รถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อฮาวาลจำนวน 1 คัน
- รถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อเนตะ จำนวน 1 คัน
2.ตู้เติมเงินเคธี่ปันสุข จำนวน 258 ตู้
3.กระเป๋าแบรนด์เนม จำนวน 4 ใบ
4.เครื่องประดับ จำนวน 28 รายการ
5.ที่ดินในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี จำนวน 4 แปลง
6.สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร จำนวน 20 เล่ม
7.สมุดเช็ค จำนวน 14 เล่ม
8.คอมพิวเตอร์/โน๊ตบุ๊ค จำนวน 20 เครื่อง
9.โทรศัพท์มือถือ จำนวน 16 เครื่อง
10.เอกสารต่างๆ จำนวน 42 รายการ
11.เงินสด จำนวน 150,000 บาท
โดยแจ้งข้อหา“ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน,ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน”
สืบเนื่องจากเมื่อเดือนธันวาคม 2567 ผู้เสียหายจำนวน 61 ราย ได้เข้าร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปอศ. เพื่อดำเนินคดีกับบริษัท ปันสุข555 จำกัด และบริษัท เคโฟร์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด ซึ่งมีนางสาวเร และนางสาวพอ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ มีพฤติกรรมชักชวนประชาชนให้ร่วมลงทุนธุรกิจซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในนามซิมการ์ดโทรศัพท์ระบบเติมเงิน ชื่อ “Sim K4” และตู้เติมเงินชื่อ “ตู้เคธี่ปันสุข” ให้บริการเติมเงินโทรศัพท์ เติมเงินวอลเล็ต ชำระบิลค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า โดยเสนอแพ็คเกจ เมื่อลงทุน 50,000 บาท จะได้รับผลตอบแทนสูงสุด 150,000 บาท ภายในระยะเวลา 500 วัน คิดเป็นร้อยละ 219 ต่อปี และมีการขยายศูนย์ตัวแทนจำหน่ายไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อจัดการอบรมสัมมนาชักชวน ซึ่งหากสมาชิกสามารถแนะนำชักชวนดีลเลอร์หรือสมาชิกใหม่จะได้รับส่วนแบ่งสูงสุดถึงร้อยละ 50 ของค่าสมัคร โดยผู้ที่สนใจลงทุนต้องสมัครสมาชิกผ่านเว็บไซต์ และมีรูปแบบการโอนเงินลงทุนผ่านระบบคิวอาร์โค้ด ซึ่งในช่วงแรกผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนจริง ทำให้มีผู้หลงเชื่อร่วมลงทุนเป็นจำนวนมาก
ต่อมาช่วงเดือนตุลาคม 2567 สมาชิกเริ่มไม่ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน จึงได้พยายามติดตามทวงถาม แต่ผู้ต้องหาได้บ่ายเบี่ยงเรื่อยมา ผู้เสียหายจึงได้รวมตัวกันมาร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้ต้องหา มูลค่าความเสียหายเป็นเงินจำนวน 27,557,701 บาท
จากการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน พบว่าการลงทุนดังกล่าวเป็นการลงทุนที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงเกินกว่าที่สถาบันการเงินตามกฎหมายพึงจะจ่ายได้ อีกทั้งธุรกิจตู้เติมเงินเคธี่ปันสุขนั้น เมื่อตรวจสอบพบว่าไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจระบบชำระเงินจากธนาคารแห่งประเทศไทย จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบว่ากลุ่มผู้ต้องหาใช้วิธีรับเงินลงทุนและจ่ายผลตอบแทนผ่านระบบเพย์เมนต์เกตเวย์ พบเงินหมุนเวียนในบัญชีบริษัทผู้ต้องหากว่า 400 ล้านบาท นอกจากนี้ยังพบว่านางสาวเร มีการยักย้ายถ่ายโอนแปรสภาพเงินเป็นทรัพย์สินต่างๆ เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบ
กระทั่งวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 กองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ได้เปิดปฏิบัติการ “ตัดวงจรแชร์ลูกโซ่ตู้เติมเงินเคธี่ปันสุข K4” ทำการตรวจค้นจำนวน 4 จุด ในพื้นที่ เขตคันนายาวและเขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร และจับกุมผู้ต้องหาได้ แต่จากการสอบถามผู้ต้องหาทั้งสองราย ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้ผู้ใช้งานและจะรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานระบบของผู้ใช้ การเรียกดูเว็บไซต์ของเราในหน้าต่างๆ กรุณายอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา
อ่านเพิ่มเติมยอมรับ