หน้าแรก > ภูมิภาค

กรมชลประทาน ติดตามสถานการณ์น้ำ พร้อมรับมืออุทกภัย จังหวัดเพชรบุรี

วันที่ 20 สิงหาคม 2567 เวลา 00:08


กรมชลประทาน ติดตามสถานการณ์น้ำ พร้อมรับมืออุทกภัย จังหวัดเพชรบุรี

(19 ส.ค. 67) ที่ห้องประชุมโครงการชลประทานเพชรบุรี นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา กรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี โดยมี นายนรเศรษฐ สองทอง ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 14 นายไพโรจน์ เตชะเจริญสุขจีระ รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 14 นายสมสวัสดิ์ ฉายสินสอน ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเพชรบุรี นายสุขาติ กาญจนวิลัย ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี พร้อมด้วยผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและวางแผนบริหารจัดการน้ำให้มีความสอดคล้องและเหมาะสมกับพื้นที่ ตลอดจนเตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัยในปี 2567

จากนั้นได้ลงพื้นที่ไปสำรวจจุดเสี่ยงอุทกภัยใน 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด อำเภอเมือง อำเภอบ้านแหลม อำเภอหนองหญ้าปล้อง และอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี  ซึ่งมีการกำหนดพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยทั้งหมด 17 จุด กรมชลประทานได้เตรียมความพร้อม โดยได้จัดทำระบบรายงานสถานการณ์น้ำแบบรวมศูนย์ ติดตามข้อมูลฝนและพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา ใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์คาดการณ์ปริมาณน้ำและระดับน้ำ พร้อมทั้งปรับปรุงแผนที่พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยให้เป็นปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังได้กำหนดแผนการระบายน้ำล่วงหน้าจากเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อติดตามและปรับแผน พร้อมประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด

ด้านการบำรุงรักษาและเตรียมความพร้อมของระบบชลประทาน ได้มีการจัดทีมสำรวจและซ่อมแซมบำรุงอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งานอยู่ตลอดเวลา เร่งดำเนินการขุดลอกคลองส่งน้ำและคลองระบายน้ำ จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำ 53 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำอีก 44 เครื่อง ไว้ช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยง สำหรับแผนการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย ได้จัดทำแผนผังการผันน้ำและระบายน้ำในแต่ละพื้นที่เสี่ยง ประสานกับเกษตรกรและชุมชนในการใช้พื้นที่แก้มลิงและพื้นที่รับน้ำนอง กำหนดมาตรการพิเศษในจุดเสี่ยงสูง นอกจากนี้ ยังมีการควบคุมการระบายน้ำจากเขื่อนเพชรไม่ให้เกิน 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อไม่ให้มีผลกระทบด้านท้ายน้ำ

ในการนี้ รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตลอดในช่วงฤดูฝน เพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์อุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที และลดผลกระทบต่อประชาชนให้ได้มากที่สุด ที่สำคัญให้บูรณาการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเต็มกำลัง จนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝน 
 

 

 

ข่าวยอดนิยม