หน้าแรก > อาชญากรรม

ปอศ.รวบแก๊งป่วยทิพย์โกงเงินประกันโควิด มูลค่าความเสียหาย 2 ล้าน

วันที่ 20 กรกฎาคม 2567 เวลา 23:05 น.


ปอศ.รวบแก๊งป่วยทิพย์โกงเงินประกันโควิด มูลค่าความเสียหาย 2 ล้าน

กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผบก.ปอศ. พร้อมเจ้าหน้าที่ชุดจับกุม กก.4 บก.ปอศ. ร่วมจับกุมกลุ่มผู้ต้องหาตามหมายจับเครือข่ายยื่นเคลมเท็จประกันชีวิตโรคโควิด จำนวน 10 ราย จับกุมได้ในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร , จ.ปราจีนบุรี , จ.สมุทรปราการ , จ.สมุทรสาคร ฐานความผิด ฉ้อโกงทรัพย์, ปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมเรียกร้องผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยโดยทุจริตหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จในการเรียกร้อง

สืบเนื่องจากเมื่อเดือนมกราคม ปี 2564 บริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ กรณีตรวจสอบพบการทุจริตยื่นเอกสารปลอมแจ้งเคลมประกันภัย ขอรับค่าสินไหมทดแทนจากกรณีเจ็บป่วยจาก โรคระบาดโควิด 19 เป็นเหตุให้ทางบริษัทหลงเชื่อและจ่ายค่าสินไหมไปจำนวน 10 ราย เสียหายรวมกว่า 2 ล้านบาท  
พฤติกรรมของกลุ่มผู้กระทำความผิด จะหาผู้ทำกรมธรรม์ประกันชีวิตโรคโควิด 19 โดยขอเอกสาร บัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาหน้าบัญชีธนาคารของผู้เอากรมธรรม์ และให้ผู้เอากรมธรรม์กรอกเอกสาร แบบเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนผ่านระบบออนไลน์ของบริษัทประกันภัย จากนั้นจะยื่นเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และใบรับรองแพทย์ผ่านระบบออนไลน์ของบริษัทประกันภัย ระบุเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนผู้เอากรมธรรม์ป่วยเป็น โรคโควิด 19 บริษัทประกันจึงหลงเชื่อว่าผู้กระทำความผิดมีอาการป่วยจริงจึงจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ผ่านบัญชีธนาคารของผู้เอากรมธรรม์

ภายหลังบริษัทประกันภัยได้สอบถามไปยังคลีนิกทางการแพทย์ผู้ออกเอกสาร ใบรับรองแพทย์ พบว่าเป็นเอกสารปลอม และได้ตรวจสอบพบลักษณะการยื่นขอค่าสินไหมทดแทนรูปแบบเดียวกันจำนวน 23 ราย จึงมาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ซึ่งจากการตรวจสอบแล้วพบว่าเอกสารใบรับรองแพทย์ทั้งหมดของผู้กระทำความผิดมาจากคลีนิคทางการแพทย์ชื่อดังแห่งหนึ่งย่านรามคำแหง จากการสืบสวนสอบสวนพบว่า ผู้กระทำความผิด มีการแบ่งหน้าที่กันทำ คือผู้ทำหน้าที่ชักชวนผู้สนใจมาทำกรมธรรม์ประกันชีวิตโควิด 19 โดยเสนอผลประโยชน์เงินสินไหมทดแทน และขอแบ่งผลประโยชน์ 50-60 เปอร์เซ็นต์ของยอดเงินที่บริษัทประกันภัยจ่ายค่าสินไหม เมื่อมีผู้สนใจกรมธรรม์ก็จะให้ยื่นเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน

โดยยื่นเอกสารสำเนาบัตรประชาชน หน้าสมุดบัญชีธนาคาร และเอกสารใบรับรองแพทย์ปลอมที่จัดเตรียมให้ ยื่นผ่านช่องทางออนไลน์ เมื่อบริษัทประกันภัยได้ตรวจสอบเอกสารและจ่ายค่าสินไหมทดแทนจำนวนประมาณ 100,000 บาท เข้าบัญชีธนาคารแล้ว จะนำเงินมาแบ่งผลประโยชน์กันตามที่ตกลงกันไว้ และจากการสืบสวนสอบสวนพบว่าคดีนี้ 
มีผู้กระทำความผิดทั้งหมด จำนวน 23 ราย ต่อมาพนักงานสอบสวนได้ดำเนินคดีแจ้งข้อกล่าวหากับผู้กระทำความผิด จำนวน 11 ราย และได้รวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติหมายจับผู้ต้องหา จำนวน 12 ราย

โดยในห้วง วันที่ 16-18 พฤษภาคม 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวน กก.4 บก.ปอศ. ได้ระดมจับกุมผู้ต้องหาที่หลบหนีจำนวน 10 ราย จับกุมได้ในหลายท้องที่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, จ.ปราจีนบุรี, จ.สมุทรปราการ, จ.สมุทรสาคร ซึ่งผู้ต้องหา บางรายให้การสารภาพว่าได้รับการแนะนำชักชวนจากคนรู้จักต่อๆ กันมา ให้ทำกรมธรรม์ประกันภัยโรคโควิด 19 พร้อมช่วยเหลือในการจัดเอกสารต่างๆ ให้ และนำเอกสารใบรับรองแพทย์ปลอมมาเป็นหลักฐานประกอบการยื่นขอเคลมเงินประกันภัย โดยที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคโควิดแต่อย่างใด เมื่อได้รับเงินสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ก็จะนำไปแบ่งกันกับผู้ร่วมกระทำผิดรายอื่นตามสัดส่วนที่ได้มีการตกลงกันไว้ทั้งในรูปแบบเงินสด และโอนผ่านบัญชีธนาคาร ส่วนเอกสารใบรับรองแพทย์คลีนิคทางการแพทย์ให้การยืนยันว่าเกิดขึ้นจากการตัดต่อชื่อและข้อความบางส่วน ผู้เอากรมธรรม์ไม่ได้มารักษาที่คลีนิคแต่อย่างใด ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รวบรวมพยานหลักฐานไว้ทั้งหมดและจะได้ดำเนินการสืบสวนขยายผลหาตัวผู้กระทำความผิดที่เหลือมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลางขอเตือนภัยถึงพี่น้องประชาชน การกระทำในลักษณะฉ้อฉลประกันภัยและผู้ที่มีพฤติกรรมในการฉ้อฉลประกันภัยจะต้องได้รับโทษตามกฎหมาย ตาม พรบ.ประกันวินาศภัย พ.ศ.2562 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท ทั้งนี้ประกันภัยเป็นการบริหารความเสี่ยงให้ความคุ้มครอง ผู้เอาประกันภัยที่สุจริตเท่านั้น

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม