หน้าแรก > สังคม

อ.เจษฎ์ เฉลยภาพ "ปลาหมอคางดำ" สีสันแปลกตา คาดเป็นปลาตัวผู้ แต่เจอแล้ว ก็ต้องกำจัดเหมือนกัน

วันที่ 19 กรกฎาคม 2024 เวลา 09:54 น.


19 กรกฎาคม 2567 จากกรณีที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้พบ "ปลาหมอคางดำ" สีสันแปลกตา ในพื้นที่แหลมผักเบี้ย จ.เพชรบุรี แล้วโพสต์ภาพลงในกลุ่ม siamensis.org เพื่อสอบถามถึงสาเหตุ ที่ทำให้สีของปลาดังกล่าวเปลี่ยนไป ทำให้ต่อมามีคนเข้าไปแสดงความคิดเห็น และตั้งข้อสงสัยเป็นจำนวนมากนั้น

ศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความอธิบาย โดยระบุว่า "ปลาหมอคางดำ" ที่สีสวยๆ ก็มีนะครับ อย่าคิดแต่ว่าจะต้องดูสีตุ่นๆ คล้ายปลานิลเท่านั้น .. เจอแบบนี้ ก็ต้องกำจัดเหมือนกันครับ! จับกินได้เลย

ภาพนี้จากสมาชิกกลุ่ม Siamensis.org ถ่ายที่แหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี คาดกันว่าเป็นปลาตัวผู้ ช่วงฤดูผสมพันธุ์ เลยมีสีสันสวยงาม ดึงดูดตัวเมีย เรียกว่าเป็นช่วงฮีท (ติดสัด) ของปลา เหมือนปลาหมอเทศ ปลานิล ที่ช่วงผสมพันธุ์จะขับสีออกมา

ในประเทศอื่นๆ ที่มีปลาหมอคางดำระบาด เช่น ในอเมริกา (รัฐฟลอริดา รัฐฮาวาย) และในฟิลิปปินส์ ก็คาดกันว่า มาจากคนที่ค้าปลาแปลกๆ สวยงาม แอบเอาเข้าประเทศมากันครับ เลยระบาด (ส่วนของไทย ยังเป็นคำถามกันอยู่ครับ)

ป.ล. มีคำถามว่า ในอเมริกากับฟิลิปปินส์ เขาจัดการยังไง? ก็ใช้วิธีจับกิน จับทำอาหารสัตว์เป็นหลัก เหมือนไทยเรารณรงค์ครับ และที่ฮาวาย ก็มีกรณีโรคแบคทีเรียปลาหมอระบาด ทำให้ปลาหมอคางดำและปลาหมออื่นๆ ตายไปเป็นจำนวนมากด้วย

ข่าวยอดนิยม