หน้าแรก > สังคม

ระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน “Cell Broadcast Service” ผ่านมือถือ ครั้งแรกในไทย แจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน 5 ภาษา เริ่มต้นปี 68

วันที่ 7 กรกฎาคม 2024 เวลา 09:37 น.


วันที่ 7 กรกฎาคม 2567 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ผลสำเร็จจากการบูรณาการความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.)

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมจัดทำ Cell Broadcast Service หรือ CBS ระบบเตือนภัยฉุกเฉินในพื้นที่จริงครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินที่ทั่วโลกใช้งาน มีวิธีการใช้งานและประโยชน์ ดังนี้ 

- สามารถส่งข้อความเตือนภัยไปยังโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้บริการทุกเครื่อง ทั้งคนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย สามารถรับข้อความได้พร้อมกันทันที 
   
- เพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือกับเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ อย่างทันท่วงที

- ช่วยสร้างความมั่นคง ปลอดภัย และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติ

- ระบบเตือนภัยฉุกเฉิน CBS สามารถแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินได้ 5 ภาษา ทั้ง ไทย อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น และรัสเซีย

- ครอบคลุมผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือทุกเครือข่ายในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนล่วงหน้า โดยจะส่งข้อความแจ้งเตือนภัยในรูปแบบ ข้อความ ตัวอักษร รูปภาพ และเสียง มีสัญญาณเสียง และข้อความที่แสดงบนหน้าจอ (Pop up)

- รองรับ Text to Speech เทคโนโลยีช่วยเหลือที่อ่านออกเสียงข้อความ ทำให้มีประโยชน์ต่อการแจ้งเตือน แก่ผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็น

สำหรับระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน CBS สามารถตั้งระดับการเตือนได้ 5 ระดับ ตามฟังก์ชั่นการใช้งาน โดยใช้ความร่วมมือกับฐานข้อมูลของภาครัฐ ประกอบด้วย

1. การแจ้งเตือนระดับชาติ (National Alert) การแจ้งเตือนระดับสูงสุด ความสำคัญมากสุด และทุกคนในทุกพื้นที่เสาสัญญาณครอบคลุมจะทราบเหตุทันที

2. การแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน (Emergency Alert) การแจ้งเตือนภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น ภัยสึนามิ แผ่นดินไหว น้ำท่วมฉับพลัน หรือ ภัยจากคนร้าย เป็นต้น

3. การแจ้งเตือนคนหาย (Amber Alert) ระบบตั้งเตือนข้อมูลเมื่อมีเด็กหายหรือคนหาย รวมทั้งการลักพาตัว เพื่อให้ประชาชนทราบข่าว เฝ้าระวัง และช่วยเจ้าหน้าที่ภาครัฐสังเกตการณ์ รายงานผล ถ้าพบคนหายหรือคนร้าย

4. ความปลอดภัยสาธารณะ (Public Safety) ระบบการแจ้งเตือนความปลอดภัยสาธารณะในพื้นที่ หรือการเฝ้าระวัง กรณีแจ้งคนที่อยู่อาศัย ชุมชน และผู้สัญจรผ่านพื้นที่นั้น

5. การแจ้งเตือนทดสอบ (Test Alert) ระบบทดสอบการแจ้งเตือนตามวัตถุประสงค์เฉพาะกิจต่าง ๆ โดยสามารถใช้งานเพื่อทดสอบก่อนขยายผลสู่การเฝ้าระวังและแจ้งเตือนในระดับต่าง ๆ ต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า เนื่องจากเป็นระบบใหม่ในประเทศไทย จึงต้องมีการเตรียมความพร้อม เรื่อง อุปกรณ์ และการติดตั้งทั่วประเทศ โดยคาดการณ์ว่าจะแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2568 เมื่อระบบพร้อมใช้งานเต็มรูปแบบ ประชาชนทั่วประเทศจะได้รับการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และปลอดภัยยิ่งขึ้น

“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการสร้างความปลอดภัยให้คนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติ ชื่นชมการทำงานร่วมกันของหน่วยงานรัฐและเอกชน ในการพัฒนาระบบเตือนภัยฉุกเฉิน ที่เป็นเครื่องมือสำคัญ

ในการรับมือกับสถานการณ์ ด้านสาธารณภัยของประเทศ ทั้งที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ และการกระทำของมนุษย์ พร้อมสั่งการให้ต่อยอดเพิ่มความปลอดภัยให้คนไทย และนักท่องเที่ยวในทุกพื้นที่”

สหประชาชาติประกาศ “แผนระบบเตือนภัยล่วงหน้าทั่วโลก” การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) ครั้งที่ 27 หรือ COP27 จัดขึ้น ณ เมืองชาร์มเอลชีค ประเทศอียิปต์ ระหว่างวันที่ 6-18 พฤศจิกายน 2565 สหประชาชาติ ได้ประกาศ “แผนระบบเตือนภัยล่วงหน้าทั่วโลก” ระหว่างปี 2566 ถึง 2570 หลังพบว่า ประชากรในแอฟริกา เอเชียใต้ อเมริกาใต้ และอเมริกากลาง รวมถึงผู้อาศัยอยู่ในหมู่เกาะขนาดเล็ก มีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตจากภัยพิบัติทางภูมิอากาศมากถึง 15 เท่า

การสร้างระบบเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือด้วยระบบ Cell Broadcast Service (CBS)
ระบบ Cell Broadcast Service (CBS) ที่เป็นการส่งข้อความเตือนภัยตรงจากเสาส่งสัญญาณสื่อสารในพื้นที่ ไปยังโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องในบริเวณนั้น ครอบคลุมทั้งพื้นที่เกิดเหตุ ถูกกำหนดให้กลายเป็นมาตรฐานโลกที่จะช่วยสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ความพิเศษของระบบแจ้งเตือนภัยผ่านมือถือด้วยระบบ CBS สามารถส่งข้อความเตือนภัยไปยังมือถือหลายล้านเครื่องภายในไม่กี่วินาที ครอบคลุมพื้นที่เกิดเหตุโดยไม่ต้องรู้เบอร์โทรศัพท์ ต่างจากระบบส่งข้อความผ่านเอสเอ็มเอส (SMS)

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกมีการใช้ระบบเตือนภัยดังกล่าว เริ่มต้นจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศแรกๆที่ใช้ระบบ CBS เนื่องจากเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นสึนามิ แผ่นดินไหว เมื่อประชาชนได้รับการแจ้งเตือนล่วงหน้า ทำให้ สามารถรับมือได้อย่างทันท่วงทีและปลอดภัย หรือในประเทศเกาหลีใต้ ที่มีการแจ้งเตือนภัยครอบคลุมการแจ้งประชาชนที่กำลังอยู่ในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน ตลอดจนการแจ้งคนหาย เพื่อให้ชุมชนในพื้นที่ช่วยกันสอดส่อง และประเทศสหรัฐอเมริกา ศรีลังกา ฟิลิปปินส์ แคนาดา นิวซีแลนด์ เปรู ตุรกี ซาอุดีอาระเบีย ฝรั่งเศส อิตาลี เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย หลังต้องเผชิญกับภัยพิบัติร้ายแรง ตั้งแต่เหตุการณ์สึนามิบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามันเมื่อปี 2547 ตามด้วยเหตุกราดยิงที่โคราช สยามพารากอน ตลอดจนภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรง ทั้งน้ำท่วมฉับพลัน ไฟป่า ดินถล่ม รวมทั้งฝุ่นพิษ PM 2.5 อย่างต่อเนื่อง การผลักดันให้เกิดการใช้งานระบบ CBS จึงทวีความจริงจังขึ้นตามลำดับ 
โครงสร้างของเทคโนโลยี Cell Broadcast Service แบ่งเป็น 2 ฝั่ง ได้แก่

ฝั่งที่ 1 เป็นการดำเนินการโดยศูนย์บัญชาการกลางของภาครัฐ ผ่านระบบ Cell Broadcast Entities (CBE) ซึ่งเป็นระบบที่ต้องกำหนดเนื้อหาและพื้นที่ในการจัดส่งข้อความ ประกอบไปด้วยฟังก์ชันต่างๆ ทั้งการบริหารจัดการระบบ (Administrator) การจัดการข้อความที่จะสื่อสาร (Message Creator) และการอนุมัติยืนยันความถูกต้อง (Approver)

ฝั่งที่ 2 เป็นการดำเนินการและดูแลโดยผู้ให้บริการโครงข่ายมือถือ ผ่านระบบ Cell Broadcast Center (CBC) ซึ่งเป็นระบบที่ทำหน้าที่นำเนื้อหาข้อความไปจัดส่งในสถานีฐานตามพื้นที่ที่กำหนดได้อย่างถูกต้อง โดยจะประกอบไปด้วย การบริหารระบบและการตั้งค่า (System & Configuration) การส่งต่อข้อความสื่อสารที่ได้รับมาผ่านโครงข่าย (Message Deployment Function) และการบริหารโครงข่ายสื่อสาร (Network Management)

ขณะที่ฝั่งเอกชน ผู้ให้บริการมือถือทั้งเอไอเอสและทรู ได้ทดสอบระบบในห้องปฏิบัติการ (Lab test) สำเร็จแล้ว โดยระบบจะแจ้งเตือนทันทีแม้ปิดเครื่อง มีทั้งสัญญาณเสียงและข้อความ Pop up หน้าจอ แจ้งเหตุพร้อมกันรอบเดียว เจาะจงพื้นที่เป้าหมายผ่านมือถือโดยไม่ต้องโหลดแอปพลิเคชันใดๆ เบื้องต้นกำหนดเหตุฉุกเฉิน 5 ระดับ เช่น แผ่นดินไหว สึนามิ น้ำท่วม ภายใต้เป้าหมายป้องกันอันตรายทั้งชีวิตและทรัพย์สินของคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม