หน้าแรก > สังคม

กรมการจัดหางานปฏิบัติการ “เจอ จับ ปรับ ผลักดัน" แรงงานผิดกฎหมาย ตรวจสอบร่วม 8 หมื่นคน สั่งดำเนินคดีเข้มไม่มีข้อยกเว้น ปรับ-จำ

วันที่ 30 มิถุนายน 2024 เวลา 09:50 น.


เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า ชุดปฏิบัติการด้านการตรวจสอบการทำงานของแรงงานข้ามชาติ ได้กระจายกำลังลงพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อตรวจสอบแรงงานข้ามชาติที่กระทำผิดกฎหมาย เป็นเวลา 24 วัน (จาก 120 วัน) หลังนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบนโยบายแก่เจ้าหน้าที่ด้านการตรวจสอบการทำงานของแรงงานข้ามชาติ ประกอบด้วย

- กระทรวงแรงงาน (กรมการจัดหางาน) สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน กำลังพลจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ

- ตรวจสอบ จับกุม และดำเนินคดีนายจ้าง/สถานประกอบการ และคนต่างชาติ ที่ลักลอบทำงานผิดกฎหมาย

- ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้นายจ้าง/สถานประกอบการ และคนต่างชาติ มีความรู้ความเข้าใจสามารถปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของคนต่างด้าว

- ปฏิบัติการเข้มข้น “เจอ จับ ปรับ ผลักดัน” เป็นระยะเวลา 120 วัน รายงานผลปฏิบัติการในระยะเวลา 24 วันแรก

ผลการดำเนินการ ระหว่างวันที่ 5 – 28 มิถุนายน 2567 รวม 24 วัน มีการตรวจสอบตามที่พลเมืองดีแจ้งเบาะแสและการสุ่มตรวจในสถานประกอบการ และบริเวณที่พบแรงงานข้ามชาติอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก พร้อมลงพื้นที่หลายจุดของกรุงเทพฯ อาทิ ตลาดย่านห้วยขวาง, เขตภาษีเจริญ, บางแค, โรงงานเผากะลามะพร้าว จังหวัดราชบุรี, ร้านขายอาหารและเครื่องดื่มในจังหวัดอุดรธานี, ไซต์งานก่อสร้างในจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นต้น

ผลการตรวจสอบสถานประกอบการที่จ้างแรงงานข้ามชาติทั่วประเทศ 6,217 แห่ง พบกระทำความผิด 203 แห่ง 
ตรวจสอบคนต่างชาติ จำนวน 78,498 คน แยกเป็น

•    สัญชาติเมียนมา 58,868 คน 
•    กัมพูชา 11,913 คน 
•    ลาว 5,571 คน 
•    เวียดนาม 22 คน 
•    สัญชาติอื่น ๆ 2,424 คน 
•    มีการดำเนินคดีทั้งสิ้น 534 คน แยกเป็นสัญชาติเมียนมา 352 คน ลาว 75 คน กัมพูชา 53 คน เวียดนาม 5 คน และสัญชาติอื่น ๆ 49 คน
บทลงโทษแรงงานต่างด้าวเถื่อนลูกจ้าง/นายจ้าง ทั้งปรับและจำ 
•    คนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากสิทธิที่ทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกส่งกลับประเทศต้นทาง 
•    ไม่สามารถขอรับใบอนุญาตทำงานได้จนกว่าจะพ้นโทษมาแล้ว เป็นระยะเวลา 2 ปี 
•    นายจ้าง/สถานประกอบการที่รับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน 
•    หากกระทำผิดซ้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน 
•    ห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี

มติ ครม.เคยย้ำเตือนแรงงานต่างด้าวก่อนสิ้นสุดขออนุญาตทำงาน
กระทรวงแรงงาน เปิดให้นายจ้างและสถานประกอบการที่จ้างแรงงานข้ามชาติที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 ที่ยื่นบัญชีรายชื่อแล้ว และประสงค์ทำงานต่อไป ให้ยื่นขอใบอนุญาตทำงาน ตามแบบ บต. 50 อ. 6 ผ่านเว็บไซต์ e - workpermit.doe.go.th ภายในวันที่ 15 มกราคม 2567 พร้อมชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงาน

หากดำเนินการไม่ทันภายในระยะเวลาที่กำหนด การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษและการอนุญาตทำงานจะสิ้นสุดลง ส่งผลให้แรงงานข้ามชาติที่ได้รับการผ่อนผันให้ทำงานอยู่กับนายจ้าง กลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย มีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติมเล็งเสนอ ครม.เปิดขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายต่ออายุ 2 ล้านคน 2 ปี

(5 มิถุนายน 2567) มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) ครั้งที่ 2/2567 พิจารณาเห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการเพื่อเตรียมการป้องกันปัญหาตาม 3 วาระ ดังนี้

1. เปิดขึ้นทะเบียนแรงงาน 4 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) สถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ที่อยู่ในประเทศไทยและทำงานกับนายจ้างอยู่แล้ว

2. ให้แรงงาน 4 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ที่ได้รับอนุญาตทำงานถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งมีประมาณ 2 ล้านคน ดำเนินการต่ออายุใบอนุญาตทำงานในลักษณะ MOU เพื่อสามารถทำงานเป็นเวลา 2 ปี และต่ออายุได้อีกครั้ง เป็นระยะเวลา 2 ปี

3. ปรับปรุงเงื่อนไขการทำงานของแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานตามฤดูกาล (มาตรา 64)

โดยเพิ่มท้องที่อนุญาตให้พำนักตามประกาศกระทรวงมหาดไทย และให้ทำงานระหว่างท้องที่ตามความตกลงและท้องที่ที่ได้รับอนุญาตให้พำนักได้ แต่ต้องเดินทางกลับออกไปนอกราชอาณาจักรช่องทางเดียวกับที่เข้ามา เพิ่มประเภทงานขายของหน้าร้านในจังหวัดที่อยู่ในความตกลงเฉพาะเขตท้องที่อำเภอที่ติดกับชายแดน เพิ่มระยะเวลาขออนุญาตทำงาน จาก 3 เดือนเป็น 6 เดือน เพื่อรองรับระยะการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรที่มีระยะเวลายาวนานขึ้น

โดยกระทรวงแรงงาน จะทยอยเสนอแต่ละวาระต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาตามลำดับ หากผ่านความเห็นชอบจะเร่งออกประกาศและยกร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย และประกาศกระทรวงแรงงาน รวมทั้งประกาศที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จ ทั้งนี้ แรงงานที่มีสถานะไม่ถูกต้องจะได้รับการผ่อนผันเมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ และประกาศกระทรวงมหาดไทย และประกาศกระทรวงแรงงานมีผลบังคับใช้แล้วเท่านั้น

•    สามารถติดตามข่าวสารจากกรมการจัดหางาน ที่เว็บไซต์กรมการจัดหางาน doe.go.th
•    สอบถามข้อมูล สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ 
•    สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน 
•    สายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694

 

ข่าวยอดนิยม