หน้าแรก > สังคม

เตรียมกลับมาเปิดศูนย์ควบคุมสุนัขฯ ประเวศหลังปรับโฉมใหม่ วางเป้าทำหมันฉีดวัคซีน 2 แสนตัว หวังลดจำนวนหมาแมวจรใน กทม.

วันที่ 13 มิถุนายน 2024 เวลา 23:43 น.


เตรียมกลับมาเปิดศูนย์ควบคุมสุนัขฯ ประเวศหลังปรับโฉมใหม่ วางเป้าทำหมันฉีดวัคซีน 2 แสนตัว หวังลดจำนวนหมาแมวจรใน กทม.

(13 มิ.ย.67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ นพ.สุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย และผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจศูนย์ควบคุมสุนัขกรุงเทพมหานคร (ประเวศ) เขตประเวศ

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า ต่อเนื่องจากกรณีไฟไหม้ตลาดนัดศรีสมรัตน์ ที่ผ่านมาไม่เคยมีการจดทะเบียนเนื่องจากข้อกฎหมายไม่ชัดเจน แต่หลังได้รับการยืนยันจากกรมอนามัยในเรื่องข้อกฎหมายว่ากิจการค้าสัตว์เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ รวมถึงกิจการประเภทสปา อาบน้ำ ตัดขน ต้องมีการขอใบอนุญาตกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งหมด ในขณะเดียวกันหากจะจำหน่ายสัตว์ก็ต้องขอใบอนุญาตกับกรมปศุสัตว์ด้วย โดยพื้นที่หลักที่เข้าไปสำรวจคือ ตลาดนัดจตุจักรพลาซ่า สนามหลวง 2 และตลาดจตุจักร 2 มีนบุรี ซึ่งผู้ค้าจะต้องขอใบอนุญาตทั้ง 2 ประเภทให้แล้วเสร็จภายใน 15 ก.ค.67

รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวว่า หลังสำรวจผู้ค้าจำหน่ายสัตว์ในตลาดนัดจตุจักรพลาซ่ามีผู้ค้าจำหน่ายสัตว์ทั้งหมด 44 ราย ซึ่งไม่มีใบอนุญาตกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งหมด และมีใบอนุญาตประเภททำการค้าฯ (ร.10) ของกรมปศุสัตว์ 19 ราย หลังจากนี้จะมีการส่งจดหมายเตือนไปยังตลาดอย่างเป็นทางการภายในสัปดาห์หน้าเพื่อให้ผู้ค้ามีโอกาสปรับตัว และจะมีการออกหน่วยร่วมกับกรมปศุสัตว์ในการออกใบอนุญาตทั้ง 2 ประเภทในคราวเดียวกัน ในส่วนความปลอดภัยด้านอัคคีภัยตามข้อบัญญติกำหนดให้ทุกร้านต้องมีอุปกรณ์ดับเพลิงเป็นของตัวเอง 1 อุปกรณ์ นอกจากนี้ในพื้นที่ตลาดมี CCTV เชื่อมกับรปภ. ส่วนกลาง ซึ่งรปภ. จะอยู่ประจำ 24 ชั่วโมง และมีสิทธิเข้าพื้นที่ทุกร้านเมื่อพบเปลวไฟ

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวเสริมว่า ในส่วนตลาดศรีสมรัตน์ตอนนี้ห้ามมีการก่อสร้างใด ๆ  หากจะทำต้องดำเนินการให้ดีตามมาตรฐานและมีใบขออนุญาตที่ชัดเจนเพื่อสร้างความไว้วางใจ เพราะสัตว์เลี้ยงก็ยังเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นที่มาว่าทำไมเราต้องดูแลสัตว์ เรื่องกิจการการค้าสัตว์เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรื่องดูแลหมาแมวจวจัด เพราะบางครั้งร้านค้าเพาะหมาแมวมาเป็นจำนวนมาก แล้วนำสัตว์ไปปล่อยทิ้งทำให้เกิดหมาแมวจรจัด ซึ่งการขอใบอนุญาตจะเป็นการบริหารจัดการตั้งแต่ต้นทาง ในขณะเดียวกันกทม. มีศูนย์ที่ดูแลหมาแมวจรจัด 2 แห่ง คือ ศูนย์ควบคุมสุนัขกรุงเทพมหานคร (ประเวศ) เป็นสถานที่รับสุนัขและแมว ที่มาจากการร้องเรียน 4 กรณี ได้แก่ กรณีสงสัยหรือสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า กรณีกัดทำร้ายคนที่มักฐานชัดเจน กรณีดุร้ายหรือมีพฤติกรรมเสี่ยงที่จะสร้างความไม่ปลอดภัยที่มีการตรวจสอบแล้วว่าเป็นจริง และกรณีเจ้าของสิ้นสภาพการเลี้ยงและไม่มีทายาทรับเลี้ยง  โดยที่ศูนย์ฯ แห่งนี้สามารถรองรับหมาแมวจรจัดได้ไม่เกิน 1,000 ตัว และศูนย์พักพิงสุนัข อุทัยธานี ซึ่งเป็นศูนย์ขนาดใหญ่รองรับหมาแมวจรจัดได้ 6,000 ตัว ปัจจุบันมีประมาณ 2,000 ตัว

ผู้ว่า ชัชชาติ กล่าวต่อว่า ศูนย์ฯ นี้ไม่สามารถที่จะรับหมาแมวจรจัดทั้งหมดในกทม. ได้ แต่หลักการคือต้องทำหมัน ฉีดวัคซีนหมาแมวจรจัดในชุมชนให้หมดเพื่อลดจำนวน โดยตั้งเป้า 200,000 ตัว ทั้งนี้ หากผู้ที่สนใจที่จะเลี้ยงหมาแมวสามารถเข้ามาดูที่ศูนย์ฯ ประเวศได้ ซึ่งเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยลดจำนวนหมาแมวจรในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยปัจจุบันมีผู้มารับไปอุปการะแล้ว 42 ตัว โดยความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย หรือจะบริจาคอาหารก็ได้เช่นกัน

“เราไม่ได้ละเลยเรื่องหมาแมวจรจัด แต่กำลังปรับโครงสร้างให้ดีและเป็นระบบมากขึ้น เพราะเรื่องหมาแมวจรจัดเป็นเรื่องใหญ่ ต้องช่วยกันดูแล หากพบปัญหาร้านไหนมีการทารุณกรรมสัตว์ สภาพแวดล้อมไม่ดี มีปัญหาเรื่องสุขภาวะของสัตว์ หรือบริเวณใดมีหมาแมวจรจัดจำนวนมากต้องการให้เข้าไปทำหมัน ฉีดวัคซีนสามารถแจ้งพิกัดเข้ามาที่ Traffy Fondue ได้” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

 

 

 

 

ข่าวยอดนิยม