หน้าแรก > สังคม

คาดตัวเลขสัตว์ตายกว่า 5 พันตัว จากเหตุไฟไหม้ตลาดสัตว์จตุจักร ด้าน กทม.ยืนยันต้องขึ้นทะเบียนสัตว์รอขายใหม่

วันที่ 12 มิถุนายน 2024 เวลา 21:21 น.


วันที่ 12 มิถุนายน 2567 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วย น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. นางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกทม. นายบุญญกฤช ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ น.ส.ฎายิน เพชรรัตน์ ผู้ประสานงานโครงการ SOS Animal Thailand องค์กรเพื่อสวัสดิภาพสัตว์แห่งประเทศไทย และนายโรเจอร์ โลหะนันท์ เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย แถลงข่าวเกี่ยวกับมาตรการการจัดการไฟไหม้และการจัดการตลาดขายสัตว์เลี้ยง จากกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ภายในตลาดสัตว์เลี้ยงจตุจักร เมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา

นายชัชชาติ ระบุว่า พื้นที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ เป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย มีร้านค้าเสียหาย 118 ล็อค คิดเป็น 1,400 ตร.ม. ซึ่งขณะนี้ ยังไม่สามารถสรุปจำนวนสัตว์ที่เสียชีวิตชัดเจน เพราะที่ผ่านมา ไม่มีการขึ้นทะเบียนของร้านอย่างถูกต้อง แต่ทาง กทม.ช่วยเหลือได้เพียงค่าเยียวยา รายละ 11,400 บาท กับ ผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องก่อนหน้านี้เท่านั้น

ขณะเดียวกัน ได้มีการประเมินตัวเลขสัตว์ที่ตาย จากกลุ่มผู้ค้า ไว้ที่ 5,000 ตัว ในหลายชนิด แต่หลังจากนี้ ทุกอย่างต้องสังคายนากันใหม่ และหากจะกลับมาเปิดค้าสัตว์กันใหม่ ผู้ประกอบการต้องขอใบอนุญาต 2 ใบ จาก กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรฯ และ จากกรุงเทพมหานคร ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายแน่นอน

"ร้านที่จะประกอบกิจการเลี้ยง/จำหน่ายสัตว์ ต้องขอใบอนุญาตให้ทำการค้าสัตว์หรือซากสัตว์จากกรมปศุสัตว์ และขอใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจาก กทม. รวม 2 ใบ รับรองว่าถ้าไม่ดีจริง กทม. ไม่ให้ผ่าน" ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าว

นายชัชชาติ กล่าวว่า ต้องมาดูกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 3 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 เกี่ยวกับกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งที่ผ่านมา กทม.ไม่เคยมีการออกใบอนุญาต เพราะยังมีความไม่ชัดเจนทางกฎหมาย ต่อมา พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ที่กรมปศุสัตว์เป็นผู้ดูแลในการออกใบอนุญาตให้ทำการค้าสัตว์หรือซากสัตว์ (ร.10) และ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 โดย กทม.เป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นร่วมปฏิบัติการ

ส่วนสัปดาห์หน้า สำนักอนามัย จะเชิญฝ่ายเกี่ยวข้องหารือเพื่อกำหนดกรอบที่ชัดเจน โดยรองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ที่เข้าร่วมการแถลงวันนี้ ขอให้ กทม.ทำข้อมูลให้ชัดเจน หากจะมีการขึ้นทะเบียนใหม่

ซึ่ง กทม.ระบุว่า ผู้ประกอบการต้องขอใบอนุญาต 2 ใบ จากกรมปศุสัตว์ และจากกรุงเทพมหานคร เรื่องนี้เป็นบทเรียนราคาแพง ทุกฝ่ายต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้ได้

ด้าน นายโรเจอร์ โลหะนันท์ เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย ได้ยื่น 3 ข้อเรียกร้องเร่งด่วน ของภาคีเครือข่ายองค์กรด้านการจัดสวัสดิภาพสัตว์ในประเทศไทย คือ

1. ขอให้ติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์โดยเร่งด่วน โดยมีคณะกรรมการกลาง ที่เกี่ยวข้องมีความเป็นธรรมเป็นกลางและโปร่งใส

2. จัดให้พัฒนาปรับปรุงอาคารสถานที่ขายสัตว์เลี้ยง ให้ได้มีมาตรฐาน รวมถึงมีมาตรการระงับเหตุป้องกันอัคคีภัย และด้านความปลอดภัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และมีคณะกรรมการติดตามกำกับดูแลการดำเนินงานในพื้นที่ขายสัตว์เลี้ยง

3. ให้บังคับใช้กฎหมาย เช่น ประกาศของกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

จากเหตุไฟไหม้ที่เกิดขึ้น กรุงเทพมหานคร ยังได้จัดระเบียบคาเฟ่ และร้านที่เลี้ยงสัตว์ไว้ทำธุรกิจ โดยขอให้ร้านที่มีลักษณะดังกล่าว มาขึ้นทะเบียน กับ กทม. ภายใน 18 ก.ค.นี้ เพื่อให้การประกอบกิจการเป็นไปอย่างถูกต้อง หลังพบว่ามีมากขึ้น 200 ราย ที่เปิดบริการ แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้ขอใบอนุญาต

ข่าวยอดนิยม