หน้าแรก > ภูมิภาค

ปล่อยเสือคืนป่า! "บะลาโกล" กลับสู่ป่าทับลานแล้ว พบร่างกายแข็งแรงดี ดำรงชีวิตในป่าได้ แต่ยังคงติดตามอย่างใกล้ชิด

วันที่ 6 มิถุนายน 2024 เวลา 16:40 น.


วันที่ 6 มิถุนายน 2567 กรณีพบเสือโคร่งออกนอกพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ มาเดินกลางถนนในบริเวณหมู่บ้านกะเหรี่ยงน้ำตก ม.18 ต.คลองลานพัฒนา อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร ตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ. 2567 โดยพบว่าตาข้างซ้ายบอด มีบาดแผลที่กระจกตา บาดแผลที่อุ้งเท้าซ้าย เหงือกซีด สภาพผอมโซ โดยสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่12 (นครสวรรค์) จึงนำมารักษาไว้ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี

ล่าสุด สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า Wildlife Conservation Office, Thailand โพสต์ความคืบหน้า โดยระบุว่า " ปล่อยแล้ว... เสือโคร่งบะลาโกลไปยังบ้านใหม่ที่ "อุทยานแห่งชาติทับลาน" เมื่อเช้ามืดวันนี้

การปล่อยเสือโคร่ง "บะลาโกล" คืนสู่ธรรมชาติ นอกจากการฟื้นฟูสุขภาพให้แข็งแรงแล้ว การเลือกที่อยู่ใหม่ก็สำคัญและมีหลายปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง เพื่อบรรลุเป้าหมายของภารกิจในครั้งนี้ นั่นคือการที่เสือสามารถดำรงชีวิตได้เองตามธรรมชาติ  

เสือต้องการที่อยู่อาศัยที่สมบูรณ์ อุดมด้วยเหยื่อที่เป็นแหล่งอาหาร มีแหล่งน้ำเพียงพอสำหรับการดำรงชีวิต และหลังการปล่อยต้องไม่เป็นการรบกวนชุมชนรอบข้าง รวมทั้ง เจ้าหน้าที่สามารถติดตามเสือโคร่งหลังการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้  

คณะกรรมการดำเนินการแก่ซากสัตว์ป่าหรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีการประชุมพิจารณาความเหมาะสมการดำเนินการในขั้นต่อไปสำหรับแผนชีวิตของบะลาโกล โดยมีมติเลือก อุทยานแห่งชาติทับลาน หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ทล.3 (ลำแปรง) ซึ่งอยู่บริเวณตรงใจกลางผืนป่าของอุทยานแห่งชาติทับลาน และห่างไกลจากชุมชนเป็นพื้นที่เป้าหมายในการปล่อยเสือโคร่ง บะลาโกล คืนสู่ธรรมชาติ และถือเป็นเคสแรกที่มีการเคลื่อนย้ายเสือข้ามกลุ่มป่าเพื่อเป็นการเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรม เข้าสู่โครงสร้างประชากรเสือโคร่งที่อาศัยอยู่ในผืนป่าดงพญาเย็น - เขาใหญ่

เหตุที่ต้องเป็นอุทยานแห่งชาติทับลานเนื่องจากคณะกรรมการฯ มีความเห็นตรงกันว่า อช.ทับลาน มีความพร้อมในด้านของพื้นที่ คือ จากการสำรวจปริมาณเหยื่อในอุทยานแห่งชาติทับลานพบว่ามีจำนวนมาก รองจากป่าตะวันตก ซึ่งเพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตของเสือโคร่ง อีกทั้งจุดที่ปล่อย (หน่วย ทล.3 (ลำแปรง)) กำลังเตรียมที่จะทำเป็นทุ่งหญ้าเพื่อเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่ง ซึ่งย่อมส่งผลต่อประชากรเหยื่อและป่าที่อุดมสมบูรณ์มากขึ้น อัตราการรอดชีวิตของเสือเองก็มากขึ้น อีกทั้งถือเป็นการช่วยลดปัญหาสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่ได้อีกด้วย

ด้วยความที่เสือโคร่งเป็นสัตว์หวงอาณาเขต และในบริเวณที่จะปล่อยบะลาโกลมีเสือเจ้าถิ่นอยู่ประมาณ 3 - 4 ตัว ดังนั้น จึงคาดว่าการออกหาพื้นที่เพื่อเป็นอาณาเขตหากินของบะลาโกลอาจจะถูกเสือเจ้าถิ่นผลักไปอยู่ตรงบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงที่ยังไม่พบเสือโคร่ง เพื่อเลี่ยงปัญหาการแย่งชิงพื้นที่ในการใช้ประโยชน์ทั้งเหยื่อ และเพศเมีย  

ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ กล่าวว่า จากการติดตามประชากรเสือโคร่งในพื้นที่ตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีนั้น ประชากรเสือโคร่งมีจำนวนประมาณ 10 - 11 ตัว แม้ว่าจะมีรายงานการถ่ายภาพลูกเสือได้ แต่จำนวนเสือโคร่งก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งหมายความได้ว่า จำนวนเสือที่มีอยู่นั้น เต็มศักยภาพในการรองรับได้ของพื้นที่ หากไปปล่อยคืนอาจจะวนกลับเป็นปัญหาแบบเดิมได้

ขณะที่ นายวีระ ขุนไชยรักษ์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า จากการดูแลรักษาเสือโคร่งตัวดังกล่าว ที่ชื่อว่า บะลาโกล มานานกว่า 3 เดือน ขณะนี้บะลาโกลร่างกายแข็งแรงดีแล้ว สามารถดำรงชีวิตในป่าได้ จึงตัดสินใจปล่อยบะลาโกลสู่ป่าทับลานแล้วในวันนี้ โดยจุดที่ปล่อยอยู่ห่างกับชุมชนค่อนข้างไกลมาก ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ติดปลอกคอวิทยุติดตามตัวเพื่อตรวจสอบการเคลื่อนที่ของบะลาโกล และเฝ้าระวังไม่ให้เป็นอันตรายกับประชาชน รวมทั้งติดตามการดำรงชีวิตของบะลาโกลด้วย

"เสือโคร่งบะลาโกล มีอายุประมาณ 2 ปี ความยาวลำตัวประมาณ 1.60 เมตร สูง 55 เซนติเมตร หางยาว 60 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 105 กิโลกรัม ถือว่าเป็นเสือโคร่งที่โตเต็มวัยแล้ว และมีสัญชาตญาณเป็นสัตว์ผู้ล่า ส่วนที่เลือกปล่อยในป่าทับลาน เนื่องจากป่าคลองลานซึ่งติดต่อกับป่าตะวันตกที่มีความสมบูรณ์มากแล้ว จึงนำมาปล่อยที่ป่าทับลาน เพื่อกระจายความหลากหลายทางพันธุกรรม เพิ่มความสมบูรณ์ต่อระบบนิเวศในป่าให้มากขึ้น"

อย่างไรก็ตาม เสือโคร่งตัวนี้เป็นสายพันธุ์ที่อยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นสัตว์ที่เป็นเหยื่อจึงเป็นสายพันธุ์เดียวกัน ถึงแม้จะมีเสือโคร่งอยู่ในป่าทับลาน แต่คิดว่าบะลาโกลจะสามารถปรับตัวได้

อีกทั้งเสือโคร่งเป็นสัตว์ผู้ล่า ตามธรรมชาติแล้วไม่ได้กินพวกเดียวกัน ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ก็ยังคงติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินว่าบะลาโกลสามารถล่าเหยื่อ และดำรงชีวิตในป่าทับลานได้

ภาพจาก Thailand Tiger Project DNP

ข่าวยอดนิยม