หน้าแรก > เศรษฐกิจ

ส่งออกไทย มี.ค. ติดลบ 10.9% ครั้งแรกในรอบ 8 เดือน พาณิชย์ คาด เม.ย.พลิกกลับเป็นบวก โตตามเป้า 1-2%

วันที่ 29 เมษายน 2024 เวลา 16:18 น.


วันที่ 29 เมษายน 2567 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน มี.ค. 2567 มีมูลค่า 24,960.6 ล้านดอลลาร์ ลดลง 10.9% กลับมาติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน ก่อนหน้านี้ขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่อง 7 เดือนติดต่อกัน เนื่องจากฐานปีก่อนสูงมาก ส่งออกได้ถึง 28,004.2 ล้านดอลลาร์

หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย จะติดลบ 5.6 % ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 26,123.8 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 5.6% ขาดดุลการค้ามูลค่า 1,163.3 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศในไตรมาสแรก ปี 2567 (ม.ค.-มี.ค.) มีมูลค่าการส่งออก 70,995.3 ล้านดอลลาร์ ลดลง 0.2% นำเข้ามูลค่า 75,470.5 ล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้น 3.8% ขาดดุลการค้ารวม 4,475.2 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 188,014 ล้านบาท

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า การส่งออกเดือนมี.ค.2567 ที่ลดลงกว่า 10% เป็นผลมาจากการส่งออกหมวดสินค้าเกษตร ขยายตัวเพียง 0.1% ขณะที่หมวดสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม หดตัว 9.9% ที่หดตัวมากคือ มันสำปะหลัง หดตัว 16.7% ผักผลไม้หดตัว 19.9% ส่วนหมวดดสินค้าอุตสาหกรรม ก็หดตัว 12.3 % โดยเฉพาะยานพาหนะและอุปกรณ์ หดตัว 12.3% เครื่องคอมพิวเตอร์หดตัว 11.8%

ด้านตลาดส่งออกสำคัญ ส่วนใหญ่หดตัว โดยตลาดหลัก ลด 9.1% หดตัวในจีน 9.7% ญี่ปุ่น 19.3% สหภาพยุโรป (27) 0.1% และอาเซียน (5) 26.1% แต่สหรัฐฯ เพิ่ม 2.5% และ CLMV เพิ่ม 0.5% ตลาดรอง ลด 4.3% โดยหดตัวในเอเชียใต้ 6.1% ตะวันออกกลาง 7.3% แอฟริกา 11.9% ลาตินอเมริกา 10.2% รัสเซียและกลุ่ม CIS 14.2% และสหราชอาณาจักร 19.3% แต่ทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 13.5% และตลาดอื่น ๆ ลด 82.3% อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ ลด 87.3%

สาเหตุที่การส่งออกในเดือนมี.ค. ลดลงมาก เนื่องฐานมูลค่าส่งออกเดือนมี.ค.ปีก่อนสูงมาก ประกอบกับภัยแล้งทำให้ผลไม้ไทยออกล่าช้า โดยเฉพาะทุเรียนออกสู่ตลาดช้าไปเป็นเดือนเม.ย. ฉุดให้ยอดส่งออกมี.ค.ชะลอลง

ทั้งนี้ หากพิจารณาในแง่ของมูลค่าจะพบว่าเดือนมี.ค.67 การส่งออกมีมูลค่าสูงถึงระดับ 24,960 ล้านดอลลาร์ ถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ดังนั้น การที่ส่งออกในเดือนมี.ค.ที่ติดลบ 10.9% ไม่ได้เป็นปัญหา และเชื่อว่าในเดือนเม.ย.67 มูลค่าการส่งออก จะพลิกกลับมาขยายตัวไปเป็นบวกได้อย่างแน่นอน

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออก เดือน เม.ย.2567 มั่นใจว่าจะกลับมาเป็นบวก และไตรมาส 2 ก็มีแนวโน้มเป็นบวก เนื่องจากสินค้าผลไม้มีผลผลิตออกสู่ตลาด ที่มีการฟื้นตัวของสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเทรนด์พลังงานสะอาด ที่จะส่งออกได้ดีขึ้น และยังคงเป้าส่งออกปีนี้ที่ 1-2% หากสามารถส่งออกได้ เฉลี่ยเดือนละ 24,044 ล้านดอลลาร์ การส่งออกทั้งปีจะขยายตัว 1% แต่หากทำได้เฉลี่ย 24,362 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน การส่งออกจะขยายตัว 2%

ส่วนการขาดดุลการค้า ดูแลไม่น่าเป็นห่วง เพราะตัวหลักที่นำเข้าสูง คือ สินค้าทุนและวัตถุดิบ นำเข้ารวมกัน 60% ของการนำเข้ารวม และอีกตัว คือ น้ำมัน มีสัดส่วนถึง 19%
ด้านนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตัวเลขการส่งออกไตรมาสที่ 1 ขยายตัว ลดลง 0.2% ถือว่าไม่ได้มีปัญหา ยังขับเคลื่อนไป ก็ไม่มีปัญหา ส่วนไตรมาส 2 มองว่าจะเป็นบวก คาดว่าจะมีมูลค่าราว 71,000 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนยังเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนการส่งออกของไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ยางพารา

นอกจากนี้ยังสินค้าอื่นๆเช่น อาหารสัตว์ ยานยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ ที่ยังคงไปได้ดี เพราะได้แรงหนุนจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า 36-37 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ค่าระวางเรือกลับสู่ปกติแล้ว ไม่ได้เป็นปัญหาเหมือนที่ผ่านมา จึงเชื่อว่าการส่งออกของไทยในไตรมาส 2 นี้ จะยังขับเคลื่อนได้ และเติบโตเป็นบวกได้ตามที่กระทรวงพาณิชย์คาดว่าจะขยายตัวได้ 2%

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม