หน้าแรก > สังคม

สั่งปิด "ตลาดจ๊อดแฟร์ พระราม 9" หลังเกิดเพลิงไหม้ ตั้งศูนย์เยียวยาร้านค้าละ 1.1 หมื่นบาท

วันที่ 14 ธันวาคม 2566 เวลา 11:18 น.


ผอ.เขตห้วยขวาง สั่งปิด "ตลาดจ๊อดแฟร์ พระราม 9" จนกว่าจะปรับปรุงแล้วเสร็จ ยํ้าเพิ่มความปลอดภัย พร้อมตั้งศูนย์เยียวยาร้านค้าละ 1.1 หมื่นบาท

เมื่อเวลา 16.21 น. วันที่ 13 ธันวาคม 2566 ร.ต.อ.กิตติ ดวงนิมิตร รอง สว.(สอบสวน) สน.ห้วยขวาง รับแจ้งเหตุเพลิงไหม้ร้านขายของ ภายในตลาดจ๊อดแฟร์ ถนนพระราม 9 แขวงและเขตห้วยขวาง กทม. รุดไปตรวจสอบพร้อมเจ้าหน้าที่สถานีดับเพลิงและกู้ภัยห้วยขวาง รถน้ำ 3 คัน และอาสาสมัครมูลนิธิร่วมกตัญญู

ที่เกิดเหตุ พบแบ่งเป็นล็อกเต็นท์ผ้าใบติดกันหลายเต็นท์ โซนขายเสื้อผ้าภายในเต็นท์ผ้าใบแบ่งเป็นล็อกขายของ เต็นท์ละประมาณ 30 ร้านขายของ ที่เต็นท์ขายเสื้อผ้ามีแสงเพลิง และกลุ่มควัน เพลิงกำลังลุกไหม้และลุกลามเต็นท์ข้างเคียง พ่อค้าแม่ค้าขนของหนีกันโกลาหล เจ้าหน้าที่ระดมฉีดน้ำนานประมาณ 20 นาทีเพลิงสงบ ไฟไหม้เสียหายเต็นท์ผ้าใบ 4 หลัง ร้านค้าเสียหายประมาณ 120 ร้าน มีหญิง อายุ 21 ปี สำลักควัน 1 ราย ปฐมพยาบาลเบื้องต้นไม่ต้องการไปโรงพยาบาล

นายไพฑูรย์ งามมุข ผู้อำนวยการเขตห้วยขวาง เปิดเผยความคืบว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมเพลิงเอาไว้ได้แล้วทั้งหมด จากการตรวจสอบพบความเสียหาย 4 ล็อก รวม 120 ร้านค้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้าแฟชั่น ถือได้ว่าเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี เบื้องต้นสำนักงานเขตจะต้องกองอํานวยการร่วมในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจำนวนเงิน 11,000 บาท ต่อ 1 ร้านค้า โดยประสานเจ้าหน้าที่ตํารวจ สน.ห้วยขวาง เข้ามาร่วมรับแจ้งความ ผู้เสียหายจะต้องเตรียมเอกสารประกอบ เช่น บัตรประชาชนและสัญญาเช่า

ส่วนสาเหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ เบื้องต้นต้นเพลิงเกิดที่โซนขายเสื้อผ้า พบผู้บาดเจ็บเป็นหญิง 1 ราย ไม่ประสงค์ที่จะไปโรงพยาบาลเนื่องจากบาดเจ็บเล็กน้อยในลักษณะสําลักควัน ส่วนกรณีเจ้าหน้าที่พบผู้ฉวยโอกาสเข้าไปขโมยของในที่เกิดเหตุนั้น อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง

ล่าสุดได้ประกาศเป็นพื้นที่เขตอันตรายแล้ว โดยจะสั่งปิดพื้นที่ทั้งหมด จนกว่าจะสามารถปรับปรุงและฟื้นฟูให้กลับมาเปิดได้ตามปกติ ส่วนระยะเวลาอาจจะ 7 วัน 15 วัน หรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการว่าจะสามารถปรับปรุงให้มีความปลอดภัยมากพอที่จะสามารถกลับมาเปิดได้หรือไม่

"หลังจากนี้จะต้องมีมาตรการเรื่องของความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้น เช่น ป้ายบอกทางเข้าออก รวมถึงสัญลักษณ์ต่างๆ เพื่อป้องกันเหตุที่อาจเกิดขึ้นซํ้า ส่วนตัวเท่าที่เห็น คือ เรื่องของร้านอาหารที่ใช้ความร้อนในการปรุงอาหาร เช่น ผักบุ้งไฟแดง ที่มีความร้อนและมีไฟลุกสูงอาจจะไปติดกับผ้าใบหรือหลังคาได้ ซึ่งหลังจากนี้จะต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น สำหรับมูลค่าความเสียหายที่จะต้องดำเนินการเยียวยาอยู่ที่ประมาณ 1,320,000 บาท"

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม