หน้าแรก > การเมือง

นายกรัฐมนตรี ตั้งโต๊ะแถลง "แก้หนี้นอกระบบ" ยกเป็นวาระแห่งชาติ รัฐเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยระหว่างเจ้าหนี้-ลูกหนี้ สั่งมหาดไทย-ตำรวจ เร่งปราบเจ้าหนี้ดอกโหด

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2023 เวลา 13:31 น.


วันนี้ (28 พ.ย.66)  นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี  พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร่วมแถลงการณ์แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ระบุว่า ได้ตั้งเรื่องนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติ ร่วมมือกับฝ่ายการปกครอง ตำรวจ เพื่อทำงานร่วมกันแก้ไขเรื่องหนี้

ซึ่งมีความระเอียดอ่อนในระดับชุมชน จากนั้น จะเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจยกระดับความเป็นอยู่เพื่อไม่ให้กลับไปก่อหนี้สินล้นพ้นตัวอีก สำหรับกลไกทางปกครองและอำนาจตามกฎหมายในการช่วยไกล่เกลี่ย ประนีประนอมข้อพิพาท หากกรณีใดอยู่นอกเหนืออำนาจฝ่ายปกครอง จะรวบรวมข้อมูลเพื่อส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

นายกฯ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของดอกเบี้ยเมื่อรัฐบาลเข้าไปเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ย จะต้องมีการคิดดอกเบี้ยให้เป็นไปตามกฎหมาย คือ ไม่เกิน 15% ต่อปี หากลูกหนี้รายใดจ่ายเกินยอดหนี้ไปแล้วให้ถือว่าเป็นอันจบกัน

จากนั้น รัฐบาลจะช่วยปรับโครงสร้างหนี้ โดยกระทรวงการคลัง เช่น ระยะเวลา เงื่อนไข และกระบวนการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนใช้หนี้ได้อย่างมีศักศรี และตรงกับความสามารถของลูกหนี้ ในอนาคตเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นจะทำให้ประชาชนรายย่อยเข้าถึงระบบสถาบันการเงินได้ง่ายมากขึ้น

ด้าน นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังพร้อมเข้ามาช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านสินเชื่อธนาคารรัฐ หลังผ่านการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ทั้ง ออมสิน และ ธ.ก.ส. เช่น ธนาคารออมสิน โดยเบื้องต้นสินเชื่อให้กู้ รายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท เป็นเวลา 2 ปี หรือสินเชื่อเพื่ออาชีพอิสระ ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อราย ระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 8 ปี

โดยคิดดอกเบี้ยตามความสามารถของลูกหนี้ ขณะที่ ธนาคาร ธ.ก.ส. มีวงเงินสำหรับเกษตรกร 2.5 ล้านบาทต่อรายสำหรับกลุ่มที่นำที่ทำกินไปขายฝาก ด้านผู้ประกอบการปล่อยเงินกู้ หากต้องการทำให้ถูกกฎหมาย แนะนำให้โครงการพิโกไฟแนนซ์ ซึ่งมีกำหนด ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท โดยมีหลักการคือไม่ให้มีการฝากเงิน แต่ให้ปล่อยกู้รายย่อยได้เท่านั้น

ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยกระทรวงมหาดไทยเปิดระบบลงทะเบียนให้ลูกหนี้ขอรับความช่วยเหลือเพื่อแก้ไขหนี้นอกระบบตั้งแต่ 1 ธ.ค. 66 เป็นต้นไป ควบคู่กับการเปิดให้ลงทะเบียนขอความช่วยเหลือแก้หนี้นอกระบบที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบทั่วประเทศ

พร้อมกันนี้ กระทรวงมหาดไทยได้ให้ทุกจังหวัด อำเภอ และสำนักงานเขต ดำเนินการตั้ง “ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ" ประชาสัมพันธ์ให้ลูกหนี้นอกระบบที่มีความประสงค์ขอรับการช่วยเหลือ หรือให้ทางราชการแก้ไขปัญหา และประชาชนสามารถลงทะเบียนด้วยตนเองที่เว็บไซต์ https://debt.dopa.go.th 

หากไม่สามารถดำเนินการได้เองทางระบบออนไลน์ดังกล่าว หรือสามารถเดินทางไปลงทะเบียนด้วยตนเอง กรณีอยู่ในพื้นที่อำเภอให้ลงทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอ และหากอยู่ในกรุงเทพมหานคร ให้ลงทะเบียนที่สำนักงานเขตทุกแห่ง หรือผ่านช่องทางสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงมหาดไทย ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุดแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ให้มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบโดยแจ้งให้จังหวัดทุกจังหวัดดำเนินการตามแนวทางมาตรการ ช่วยเหลือ มาตรการเฝ้าระวัง/ป้องกัน และมาตรการปราบปรามเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ

กระทรวงมหาดไทยพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ สามารถแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนหรือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากหนี้นอกระบบ ได้ทันที จึงขอให้จังหวัดดำเนินการ ดังนี้

1.ให้จังหวัดและอำเภอดำเนินการจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ให้แล้วเสร็จและให้รายงานกระทรวงมหาดไทยทราบทันที โดยกำหนดให้มีการประชุม คณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นประจำทุกสัปดาห์หรือทุกเดือนตามที่เห็นสมควร

2.ประชาสัมพันธ์ให้ลูกหนี้นอกระบบที่มีความประสงค์รับการช่วยเหลือหรือให้ทางราชการดำเนินการแก้ไขปัญหา ลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือได้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 โดยให้ดำเนินการ ดังนี้

2.1 ลูกหนี้นอกระบบลงทะเบียนด้วยตนเอง สามารถลงทะเบียนผ่านคิวอาร์โค้ด (QR Code) ตามที่กระทรวงมหาดไทยประชาสัมพันธ์
2.2 ลูกหนี้นอกระบบที่ไม่สามารถดำเนินการเองตามข้อ 2.1 ได้ ในส่วนภูมิภาคให้ติดต่อ ที่ว่าการอำเภอ ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ สำหรับกรุงเทพมหานครติดต่อสำนักงานเขตทุกแห่ง หรือผ่านช่องทางสายด่วน 1567 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

3. เร่งรัดให้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด/อำเภอดำเนินการให้ความช่วยเหลือกับลูกหนี้นอกระบบที่ได้แจ้งเรื่องร้องเรียนไว้แล้ว โดยให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับผู้ร้องให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว

4.แจ้งให้จังหวัด/อำเภอ มอบหมายเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เพื่อรับลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบและให้คำปรึกษาเรื่องหนี้นอกระบบ เพื่อสามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ของประชาชนได้ทันที

5.ให้รายงานผลการลงทะเบียนของลูกหนี้นอกระบบที่ขอรับความช่วยเหลือให้กระทรวงมหาดไทย (กรมการปกครอง) ทราบ ตามแบบฟอร์มการรายงานผลการลงทะเบียนของลูกหนี้นอกระบบเป็นประจำทุกเดือน

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม