หน้าแรก > สังคม

สดร.ชวนชม “ฝนดาวตกลีโอนิดส์” ราชาแห่งฝนดาวตก คืน 17 - รุ่งเช้า 18 พ.ย. 66 นี้

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2023 เวลา 08:45 น.


เฟซบุ๊กเพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ชวนชม "ฝนดาวตกลีโอนิดส์" ช่วงคืนวันที่ 17 พ.ย.66 จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 18 พ.ย.66 นี้ อัตราการตกสูงสุด 15 ดวงต่อชั่วโมง ช่วงดังกล่าว ปราศจากแสงจันทร์รบกวน แนะชมในที่มืดสนิท จะเห็นได้อย่างชัดเจน

ฝนดาวตกลีโอนิดส์ หรือ ฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโต จะเกิดในช่วงระหว่างวันที่ 6 - 30 พ.ย. ของทุกปี ในปี 2566 นี้ จะมีอัตราการตกสูงสุดหลังเที่ยงคืนวันที่ 17 พ.ย.66 เวลาประมาณ 01:00 น. จนถึงรุ่งเช้าวันที่ 18 พ.ย.66 ศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวสิงโต ทางทิศตะวันออก ในคืนดังกล่าวไร้แสงจันทร์รบกวน สามารถสังเกตการณ์ได้ด้วยตาเปล่าในที่มืดสนิท โดยจะปรากฏให้เห็นเป็นแสงสว่างวาบคล้ายลูกไฟ พาดผ่านท้องฟ้า ไม่จำเป็นต้องมองผ่านกล้องโทรทรรศน์ เนื่องจากการเกิดฝนดาวตกจะเกิดขึ้นทั่วท้องฟ้าบริเวณกว้าง  

ฝนดาวตกลีโอนิดส์ เกิดจากสายธารเศษฝุ่นของดาวหาง 55 พี เทมเพล-ทัตเทิล (55P/Tempel-Tuttle) ที่มีคาบวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ 33 ปี ขณะที่โลกเคลื่อนผ่านวงโคจรของดาวหางดังกล่าว แรงโน้มถ่วงของโลกได้ดึงดูด เศษหิน และเศษฝุ่น ที่หลงเหลือไว้เข้ามาในชั้นบรรยากาศ เกิดการเสียดสี และเผาไหม้ ปรากฏให้เห็นเป็นแสงคล้ายลูกไฟสว่างวาบเคลื่อนผ่านท้องฟ้า ทิศทางวงโคจรของฝนดาวตกลีโอนิดส์นั้นสวนทางกับทิศทางวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ส่งผลให้ความเร็วของเม็ดฝุ่นที่เข้ามาเสียดสีกับบรรยากาศโลกมีความเร็วค่อนข้างมาก มีความเร็วสูงถึง 71 กิโลเมตรต่อวินาที และความพิเศษของฝนดาวตกลีโอนิดส์ เป็นฝนดาวตกที่มีความสว่างมากที่สุด จึงได้รับการขนานนามว่า "ราชาแห่งฝนดาวตก"

ผู้สนใจแนะนำชมในสถานที่ที่มืด ไม่มีแสงไฟรบกวนหรือห่างจากเมือง ควรใช้เวลาปรับสายตาในที่มืด ประมาณ 30 นาที เพื่อให้สายตาคุ้นเคยกับความมืด และให้นอนรอชมปรากฏการณ์ เนื่องจากฝนดาวตกกระจายทั่วท้องฟ้าบริเวณกว้าง สำหรับการบันทึกภาพฝนดาวตกนั้นแนะนำใช้เลนส์มุมกว้างและถ่ายภาพทั่วทั้งท้องฟ้า เพราะไม่สามารถระบุทิศทางได้ ต้องอาศัยการคาดเดาและเปิดหน้ากล้องค้างไว้ให้ดาวตกวิ่งผ่านหน้ากล้อง

นอกจากฝนดาวตกลีโอนิดส์ที่จะได้ชมกันในเดือนนี้แล้ว กลางเดือนธันวาคม 2566 ยังมี "ฝนดาวตกเจมินิดส์" หรือ ฝนดาวตกคนคู่ ตั้งแต่คืนวันที่ 14 ธ.ค. ต่อเนื่องไปจนถึงเช้ามืดของวันที่ 15 ธ.ค.66 อัตราการตกสูงสุดถึง 120 - 150 ดวงต่อชั่วโมง ศูนย์กลางการกระจายบริเวณกลุ่มดาวคนคู่ อีกทั้งปราศจากแสงจันทร์รบกวนตลอดทั้งคืน ซึ่ง สดร. เตรียมจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ในช่วงคืนดังกล่าว รอติดตามรายละเอียดกิจกรรมเพิ่มเติมได้ทางเพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ข่าวยอดนิยม