หน้าแรก > ภูมิภาค

นักท่องเที่ยวแห่ชม 'กิ้งกือมังกรสีชมพู' แห่งเดียวในโลก ที่หุบป่าตาด จ.อุทัยธานี

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2023 เวลา 16:19 น.


3 พฤศจิกายน 2566 "หุบป่าตาด"เป็นป่าดึกดำบรรพ์ ตั้งอยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน อยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) มีเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ ตั้งอยู่ที่บ้านชายเขา หมู่ที่ 3 ต.ทุ่งนางาม อ.ลานสัก จ.อุทัยธานีปัจจุบันถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวติดอันดับต้นๆ ของจ.อุทัยธานี พื้นที่นี้เคยเป็นถ้ำหินปูนมาก่อน ต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา ทำให้หลังคาถ้ำพังถล่มลงมา กลายเป็นหลุมยุบหรือหุบ ในปัจจุบันพบต้นไม้ดึกดำบรรพ์ขึ้นอยู่หลายชนิด เช่น ต้นตาด สมพง ยมหิน ปอหูช้าง ปรง และกล้วยผา เป็นต้น

สำหรับ "กิ้งกือมังกรสีชมพู" ลำตัวจะมีสีชมพูสดใสมีลักษณะโดดเด่นด้วยลวดลาย และปุ่มหนามคล้ายมังกร พบได้ในป่าที่มีความชุ่มชื้นสูง และอุดมสมบูรณ์ เมื่อโตเต็มวัยจะมีลำตัวยาวประมาณ 7 เซนติเมตร มีจำนวนปล้องราว 20-40 ปล้อง และ สามารถปล่อยสารประเภทไซยาไนต์ออกมาจากต่อมขับสารพิษข้างลำตัวเพื่อป้องกันตัวเองจากศัตรูธรรมชาติจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก

สำหรับหุบป่าตาดแห่งนี้ อยู่ในความดูแลของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี ซึ่งมีความโดดเด่น คือ มีลักษณะเป็นป่าดึกดำบรรพ์ที่อุดมไปด้วย “ต้นตาด” หรือ “ต้นต๋าว” พืชตระกูลปาล์ม ซึ่งชอบขึ้นในพื้นที่ป่าดงดิบที่มีอากาศเย็นชื้นสภาพหนาทึบ ด้านนายสุชาติ หิรัญ หัวหน้าประชาสัมพันธ์หุบป่าตาด เปิดเผยว่า ในปี 2551 สถาบันไอไอเอสอี มหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา ประกาศให้กิ้งกือมังกรสีชมพู เป็นสุดยอดการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่อันดับ 3 ของโลก ทำให้นักท่องเที่ยวที่ได้เห็น พากันตื่นตาตื่นใจ และถ่ายรูปเป็นที่ระลึก

เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุนเปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 08.30 น. ถึง 16.30 น. ซึ่งช่วงเวลาที่ดีที่สุดคือช่วง 11.00 น. ถึง 13.00 น. เป็นช่วงที่แสงอาทิตย์ส่องลงมายังหุบเขาทำให้เกิดภาพที่สวยงามบริเวณห้องโถงถ้ำกลาง ที่มีหินงอกหินย้อย ซึ่งถือเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึกกันมากที่สุด แต่หากใคร ต้องการมาดูกิ้งกือมังกรสีชมพู สามารถพบเห็นได้ในช่วงสายๆ เพราะช่วงเช้าจะมีนกคอยรบกวนกิ้งกือมังกรสีชมพู ทำให้กิ้งกือไม่กล้าออกมาให้นักท่องเที่ยวชม

ที่มา สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 นครสวรรค์

ข่าวยอดนิยม