หน้าแรก > สังคม

อุทาหรณ์ ! แพทย์เตือน ฝังเข็มทำปอดรั่ว ถ้าขึ้นเครื่องบินมีโอกาสเสียชีวิต

วันที่ 27 ตุลาคม 2566 เวลา 08:58 น.


วันที่ 26 ตุลาคม 2566  นพ.สมรส พงศ์ละไม แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด แพทย์ฝังเข็ม ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสุขภาพผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยยกเคสคนไข้มีอาการปวดคอบ่าไหล่ ไปฝังเข็ม  วันต่อมาหายใจแล้วเจ็บหน้าอกทุกครั้ง เจ็บแปล๊บๆ เอกซเรย์พบว่าปอดรั่ว pneumothorax (นิวโมธอแรกซ์) ถ้าขึ้นเครื่องบินอาจเสียชีวิตได้

1. การฝังเข็มหรือการลงเข็ม เป็นการรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อ ออฟฟิศซินโดรมที่ดี ประหยัด มีประสิทธิภาพถ้าใช้อย่างถูกต้องเหมาะสม ไม่ประมาท เข้าใจการดำเนินโรคอย่างถูกต้อง

2. แต่ช่วงหลัง ๆ เจอปัญหาปอดรั่วบ่อยขึ้นมาก ๆ คนไข้มักมีอาการไอหลังฝังเข็ม สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือ “ประมาท” “กายวิภาคไม่แม่น” อย่าฝังลึกเกินจำเป็น มากกว่า 3.34 - 5.35 ซม. +/- ผอมอ้วน อย่าปักจำนวนเข็มมากเกินจำเป็น อย่าให้คนไข้ขยับตัวโดยไม่จำเป็น ให้คนไข้หายใจด้วยท้อง เบาๆ ฝังตอนหายใจออกให้ปอดแฟบ ทิศทางเข้ากล้ามเนื้อ ไม่ใช่เข้าปอด

3. สำหรับแพทย์จีน อย่าจำแค่ว่าจุดนี้ฝังได้กี่ชุ่น หรือกี่เซ็นติเมตร เพราะเคสนี้กล้ามเนื้อก็หนา ไม่ได้ผอม ไม่มีโรคปอดใด ๆ เป็นเรื่องของความเชี่ยวชาญชำนาญล้วน ๆ มีอาจารย์หลายท่านสอนน้อง ๆ ว่าปักลึกได้เลย ไม่ต้องกลัว อันนี้อันตรายอย่างยิ่ง

4. สำหรับคุณหมอแผนปัจจุบัน ตอนฉีดยาชาเข้า Trigger point ก็ยิ่งต้องระวังนะครับ ปลายเข็ม syringe ใหญ่กว่าเข็มฝังเข็มมาก ปอดรั่วจะใหญ่กว่านี้เยอะ

5. สำหรับคนที่ไม่ใช่แพทย์แผนปัจจุบันหรือแพทย์จีน “ไม่ควรฝังเข็มในสิ่งที่เราไม่เชี่ยวชาญ” เห็นน้อง ๆ วิชาชีพอื่น ๆ แอบทำกันหลายคลินิก ถ้าทำแล้วคนไข้ปอดรั่วหนัก พิการ เสียชีวิตขึ้นมา จะโดนทั้งอาญา แพ่ง วิชาชีพ และวินัยได้

6. ฝากอาจารย์ในมหาวิทยาลัยทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนจีน เข้มข้นกับการสอน ให้แม่นอนาโตมี รู้ทิศทางและตำแหน่งปอดดีๆ อย่าย่ามใจประมาทเกินไป ถ้าประมาทก็พิการหรือตายได้
7. ทุกครั้งที่เราจะฝังเข็ม-ลงเข็ม ต้อง Informed Consent เสมอว่าจะมีโอกาสเกิดปอดรั่วได้ และติดตามอาการคนไข้สม่ำเสมอ ถ้ามีปัญหารีบ take action ดูแลคนไข้เต็มที่

8. อย่ามั่นใจในตัวเองเกินไป ไม่มีอะไร 100% ใน medicine ต่อให้ฝังมา 10 ปีก็เกิดได้ถ้าทุกอย่างซวยจริง ๆ

9. ถ้าปอดรั่วขนาดเล็ก 1-2 ซม. มักปิดเองใน 1-2 สัปดาห์ ดังนั้น จำนวนผู้ป่วยที่แท้จริงจึงมากกว่าที่รายงานจากโรงพยาบาล เพราะคนไข้หายได้เอง ติดตามอาการเหนื่อย หายใจเจ็บ ออกซิเจนปลายนิ้ว ตลอด  อาจพิจารณาเอกซเรย์ซ้ำ 24-48 ชั่วโมง ถ้าปอดรั่วขนาดใหญ่ มากกว่า 2 ซม. อาจต้องใส่ท่อระบาย ขึ้นกับหลายปัจจัยและคุณหมอเจ้าของไข้

10.ถ้าสมมติคนไข้รายนี้ ขึ้นเครื่องบินก่อนที่ปอดรั่วหาย จะเกิดอะไรขึ้น ? ขณะที่ขึ้นบินแรงดันในเครื่องจะต่ำ ทำให้ปอดรั่วลามมากขึ้นได้ ในกรณีที่แย่ที่สุดคือมีโอกาสเสียชีวิตได้ ดังนั้นอย่าเสี่ยง งดบินไปเลยอย่างน้อย 2 สัปดาห์ หรือยืนยันแน่ชัดว่ารูรั่วปิดสนิทแล้ว

หมอสมรส ทิ้งท้ายว่า ทุกวันนี้ปอดรั่วเพิ่มมากขึ้น ในช่วง 1 ปี ที่หมอรู้มีมากกว่า 10 คน ที่ไม่รู้น่าจะเกือบร้อย พร้อมย้ำว่า การฝังเข็มไม่ได้น่ากลัว สิ่งที่น่ากลัวคือความประมาท คนไข้เคสนี้เป็นหมอ ขอบคุณคนไข้ที่ให้ภาพมาเป็นวิทยาทาน คงจะกลัวฝังเข็มไปอีกนาน

CR.นพ.สมรส พงศ์ละไม
 

ข่าวยอดนิยม