หน้าแรก > สังคม

ข่าวดี! ไทยค้นพบซากดึกดำบรรพ์อัลลิเกเตอร์สายพันธุ์ใหม่ของโลก

วันที่ 18 ตุลาคม 2023 เวลา 21:04 น.


วันที่ 18 ตุลาคม 2566 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) ร่วมกับทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยทือบิงเกน ประเทศเยอรมนี และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดแถลงข่าวผลการศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์ของอัลลิเกเตอร์สายพันธุ์ใหม่ของโลก “อัลลิเกเตอร์ มูลเอนซิส (Alligator munensis) หรืออัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล” โดยมีนายนพดล พลเสน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน พร้อมด้วยนายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ โฆษกประจำ ทส. นายฐิติพันธ์ จูจันทร์โชติ รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ในฐานะโฆษกกรม นายปรีชา สายทอง ผู้อำนวยการกองคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กันตภณ สุระประสิทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ซากดึกดำบรรพ์นี้ ถูกค้นพบเมื่อปี พ.ศ.2548 โดยผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครราชสีมา แจ้งกรมทรัพยากรธรณีขอให้เข้าตรวจสอบซากดึกดำบรรพ์ ที่เก็บรักษาไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา พบเป็นกะโหลกสัตว์โบราณ 1 ชิ้น กรามสัตว์โบราณ 2 ชิ้น และกระดูกสัตว์โบราณ 5 ชิ้น จากนั้นได้ลงพื้นที่บ้านเจ้าของที่ดิน นายสมพร โนกลาง บ้านสี่เหลี่ยม ตำบลใหม่ อำเภอโนนสูง พบชิ้นส่วนโดยมากเป็นเศษกระดูกแตกหักจนไม่สามารถศึกษาได้ จากการตรวจสอบชิ้นส่วนกะโหลกอัลลิเกเตอร์ที่พบมีสภาพเกือบสมบูรณ์ในชั้นตะกอนทรายลึกลงไปจากผิวดินประมาณ 2 เมตรคาดว่า มีอายุในช่วงไม่เกินสมัยไพลสโตซีนตอนกลาง หรือประมาณ 230,000 ปีก่อน หรืออาจมีอายุอ่อนกว่านั้น พบว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่ของโลก ถูกศึกษาและตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Scientific Reports  โดยผลการศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์อัลลิเกเตอร์สายพันธุ์ใหม่ของโลกจากประเทศไทย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า อัลลิเกเตอร์ มูลเอนซิส (Alligator munensis) หรืออัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล โดยตั้งชื่อตามแหล่งค้นพบใกล้กับแม่น้ำมูล

สืบเนื่องจาก นักบรรพชีวินวิทยาค้นพบซากดึกดำบรรพ์อัลลิเกเตอร์สายพันธุ์ใหม่ของโลก จากจังหวัดนครราชสีมา ประเทศไทย อายุกว่า 230,000 ปีก่อน ถูกศึกษาและตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Scientific Reports ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยทือบิงเกน ประเทศเยอรมนี นำโดย Dr.Gustavo Darlim ร่วมกับกรมทรัพยากรธรณีและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์กะโหลกสภาพเกือบสมบูรณ์ของอัลลิเกเตอร์ จากบ้านสี่เหลี่ยม ตำบลใหม่ อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา และพบว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่ของโลก โดยตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า อัลลิเกเตอร์ มูลเอนซิส (Alligator munensis) หรืออัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล ซึ่งตั้งชื่อตามแหล่งที่ค้นพบใกล้กับแม่น้ำมูล

ทีมนักวิจัยได้ศึกษาตัวอย่างโดยเปรียบเทียบกับตัวอย่างที่เคยศึกษามาก่อน 19 ตัวอย่าง ประกอบด้วยตัวอย่างชนิดที่สูญพันธุ์ไปแล้ว 4 ชนิด และตัวอย่างในปัจจุบัน อีก 2 ชนิด คือ อัลลิเกเตอร์อเมริกา (Alligator mississippiensis) และอัลลิเกเตอร์จีน (Alligator sinensis)

อัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล (Alligator munensis) พบซากดึกดำบรรพ์อยู่ในชั้นตะกอนทรายลึกลงไปจากผิวดินประมาณ 2 เมตร คาดว่ามีอายุในช่วงไม่เกินสมัยไพลสโตซีนตอนกลาง หรือประมาณ 230,000 ปีก่อน หรืออาจมีอายุอ่อนกว่านั้น มีลักษณะเด่นเมื่อเทียบกับอัลลิเกเตอร์ชนิดอื่น คือ มีจะงอยปากกว้างและสั้นกว่า มีกะโหลกสูงกว่า มีตำแหน่งรูจมูกอยู่ห่างจากปลายจะงอยปาก มีการลดจำนวนเบ้าฟันลงและมีเบ้าฟันขนาดใหญ่ขึ้นบ่งบอกว่ามีฟันขนาดใหญ่ใช้สำหรับกินอาหารที่มีเปลือกแข็ง เช่น หอยน้ำจืดชนิดต่าง ๆ จากขนาดกะโหลกคาดว่ามีขนาดทั้งตัวยาวประมาณ 1 - 2 เมตร

นอกจากนี้ยังพบว่าลักษณะกะโหลกใกล้เคียงกับอัลลิเกเตอร์จีนในปัจจุบัน (Alligator sinensis) แสดงให้เห็นว่าอัลลิเกเตอร์ทั้งสองชนิดอาจมีบรรพบุรุษร่วมกันระหว่างลุ่มน้ำแยงซีและลุ่มน้ำแม่โขง-เจ้าพระยา แต่การเกิดธรณีแปรสัณฐานทำให้เกิดการยกตัวของที่ราบสูงธิเบต ส่งผลให้เกิดการแยกประชากรทั้งสองชนิดออกจากกัน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้อัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูลเกิดการสูญพันธุ์ไปก่อน

อัลลิเกเตอร์มีลักษณะคล้ายกับจระเข้ แต่แตกต่างกันตรงที่อัลลิเกเตอร์มีจะงอยปากเป็นรูปตัวยู(U) ในขณะที่จระเข้มีจะงอยปากเรียวแหลมเป็นรูปตัววี (V) และเมื่อปิดปากจระเข้จะเห็นฟันทั้งบนและล่าง ในขณะที่อัลลิเกเตอร์จะเห็นเฉพาะฟันบนหรือแทบไม่เห็นเลย 

โดยในปัจจุบันพบจระเข้มีหลายสายพันธุ์และพบได้เกือบทั่วโลก ในขณะที่อัลลิเกเตอร์พบเหลืออยู่เพียง 2 สายพันธุ์เท่านั้น คือ อัลลิเกเตอร์อเมริกา (Alligator mississippiensis) พบเฉพาะบริเวณตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา และอัลลิเกเตอร์จีน (Alligator sinensis) พบเฉพาะบริเวณลุ่มน้ำแยงซี ประเทศจีน ซึ่งถือว่าเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มาก

ปัจจุบันข้อมูลด้านการอพยพย้ายถิ่นที่อยู่ของอัลลิเกเตอร์ระหว่างเอเชียและอเมริกายังคงเป็นปริศนาว่าเกิดขึ้นเมื่อใด และมีเส้นทางการอพยพเป็นอย่างไร แต่อย่างไรก็ตาม การค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของอัลลิเกเตอร์ในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงในประเทศไทย แสดงให้เห็นว่าถิ่นที่อยู่ของอัลลิเกเตอร์ในอดีตนั้นเคยกว้างขวางกว่าในปัจจุบันมาก

ข่าวยอดนิยม