หน้าแรก > อาชญากรรม

รวบหนุ่มแสบนักต้มตุ๋น แอบอ้างสำนักพระราชวัง ลวงเหยื่อกว่า 15 รายทั่วประเทศ ความเสียหายเกือบล้าน

วันที่ 13 ตุลาคม 2566 เวลา 11:22 น.


กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดยกองบังคับการปราบปราม(บก.ป.) ร่วมกันจับกุม นายจุฬาธิปก อายุ 29 ปี สัญชาติไทย เพื่อดำเนินคดีในข้อหา “ปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม, โดยทุจริตหรือโดยการหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ 

โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อผู้อื่น เป็นการกระทำต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง” พร้อมของกลาง จำนวน 5 รายการ อาทิโทรศัพท์มือถือ2เครื่อง  ,นาฬิกายี่ห้อ Samsung galaxy watch 3 จำนวน 1 เครื่อง,กระเป๋าสตางค์ ลาย Supreme สีแดง จำนวน 1 ใบ,บัตรบริการเงินด่วน ธนาคารกสิกรไทย 1 ใบ   โดยจับกุมได้ บริเวณฝ่ายพิธีการเข้าเมือง ชั้น 1 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ  

สืบเนื่องจากมีผู้เสียหายจำนวนหลายรายถูกหลอกลวงโดยคนร้ายซึ่งปกปิดตัวตนแอบอ้างว่าตนเอง เป็นเจ้าหน้าที่จากสำนักพระราชวัง โดยมีการใช้ไลน์ชื่อ "ฬ.จุฬา", "สำนักพระราชวัง", "wannachai apaiwongse" , "ศ.สถิตย์" , "กรมกิจการพิเศษ ๙๐๔" และ "Chakrabongse ๑๙๐๔" หลอกลวงผู้เสียหายที่เป็นผู้ประกอบการร้านอาหาร และร้านค้า

โดยอ้างว่าจะพา VVIP ไปใช้บริการที่ร้าน แล้วเรียกเก็บค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าฉายพระรูป, ค่าเข็มที่ระลึก ฯลฯ เป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินให้คนร้ายจำนวนหลายราย จากการตรวจสอบช่วงระหว่างวันที่ 23 มกราคม 2564 - 4 กรกฎาคม 2566 พบผู้เสียหายกว่า 15 ราย และมีผู้เสียหายที่หลงเชื่อจำนวน 9 ราย รวมมูลค่าความเสียหายเป็นเงิน 908,949.01 บาท

เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปราม ได้ดำเนินการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน รวมถึงนำข้อมูลแผนประทุษกรรมคดีก่อนหน้าที่มีลักษณะคล้ายกันมาทำการวิเคราะห์จนสามารถระบุได้ว่าตัวคนร้ายผู้กระทำความผิดดังกล่าว คือ นายจุฬาธิปกฯ จากการสืบสวนพบว่า นายจุฬาธิปกฯ ได้หลบหนีไปประเทศพม่า  จึงได้ดำเนินการประสานงานเพื่อสืบสวนติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดี

ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปราม กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางได้รับการประสานจากทางประเทศเมียนมาร์ ผ่านทางเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาร์ ว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจประเทศเมียนมาร์ได้พบตัว นายจุฬาธิปกฯ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่านายจุฬาธิปกฯ เป็นผู้ต้องหาของตามหมายจับศาลอาญา ที่ 1692/2566 ลงวันที่ 31 พ.ค. 2566 และจะได้ทำการส่งตัวนายจุฬาธิปกฯ กลับมายังประเทศไทยเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ต่อมา เมื่อวันที่ 12 ต.ค.2566 เวลาประมาณ 09.25 น. ชุดจับกุมได้รับการประสานว่านายจุฬาธิปกฯ จะเดินทางจากประเทศเมียนมาร์มายังประเทศไทย จึงได้ประสานไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตม.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดไปตรวจสอบ จากการตรวจสอบพบว่า ผู้ต้องหายังมีหมายจับในคดีอื่นอีกจำนวน 3 หมายจับ ดังนี้

1. หมายจับศาลจังหวัดเชียงราย ที่ 337/2565 ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน "ร่วมกันฉ้อโกง โดยการแสดงตนเป็นบุคคลอื่น,ร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยการหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์หรือ ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อผู้อื่น เป็นการกระทำต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง" ท้องที่ สภ.เมืองเชียงราย

2. หมายจับศาลจังหวัดเชียงใหม่ ที่ 846/2564 ลงวันที่  22 ธันวาคม 2564 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน "นำเข้าสู่ระบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น“ ท้องที่ สภ.แม่ปิง จ.เชียงใหม่

3. หมายจับศาลอาญา ที่ 2952/2566 ลงวันที่ 8 กันยายน 2566 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน "ร่วมกันฉ้อโกงโดยการแสดงตนเป็นบุคคลอื่น และโดยโดยทุจริต หรือหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง”

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม