หน้าแรก > สังคม

ควบคุมโรค เตือนโรงเรียน, ศูนย์เด็กเล็ก,ผู้ปกครองดูบุตรหลาน เหตุโรคมือเท้าปากแพร่ระบาด

วันที่ 8 กันยายน 2023 เวลา 11:33 น.


เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝน ทำให้สภาพอากาศชื้น เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโรคมือ เท้า ปากได้ง่าย ทาง สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 (สคร.9) นครราชสีมา ได้มีการขอความร่วมมือผู้ปกครอง หมั่นสังเกตอาการผิดปกติของเด็ก

ส่วนผู้ดูแลเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียนอนุบาล ขอให้คัดกรองและสังเกตอาการของเด็กก่อนเข้าเรียน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี หากเด็กมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย เจ็บปาก ร่วมกับมีตุ่มพองเล็กๆ บริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า หรือตุ่มแผลในปาก ควรแยกเด็กป่วยไม่ให้คลุกคลีกับคนอื่นๆ และแจ้งให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน หากอาการไม่ดีขึ้นให้พาไปพบแพทย์โดยเร็ว

นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงโรคมือ เท้า ปาก พบว่า มีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กที่มีเด็กอยู่รวมกันจำนวนมากมีการทำกิจกรรมรวมกลุ่ม ทำให้เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อ

โรคนี้เกิดได้ตลอดทั้งปี แต่จะเพิ่มมากในช่วงฤดูฝน ติดต่อกันโดยการสัมผัสของเล่นที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก น้ำจากแผลตุ่มพอง อุจจาระของผู้ป่วย การไอ จาม หรือหายใจรดกัน อาการของโรคมือ เท้า ปาก เริ่มด้วยมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย ต่อมา 1-2 วัน จะมีอาการเจ็บปาก อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ร่วมกับมีตุ่มพองเล็กๆ บริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า ตุ่มแผลในปาก เพดานอ่อน กระพุ้งแก้ม ลิ้น และก้น

ต่อมาจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ อาการจะทุเลาและหายเป็นปกติภายใน 7-10 วัน หากอาการไม่ดีขึ้น เช่น มีไข้ขึ้นสูง ซึมลง เดินเซ ชัก เกร็ง หายใจหอบเหนื่อย อาเจียนมาก ต้องรีบไปพบแพทย์ทันทีเพราะอาจติดเชื้อโรค มือ เท้า ปาก ชนิดรุนแรง อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

สถานการณ์โรคมือเท้าปาก ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 28 สิงหาคม 2566 พบผู้ป่วย 37,169 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต พบมากที่สุดในอายุ 0-4 ปี ร้อยละ 76.07 รองลงมาคือ อายุ 5 ปี ร้อยละ 10.07 และอายุ 7-9 ปี ร้อยละ 5.92 ตามลำดับ
สถานการณ์โรคมือเท้าปาก ในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 26 สิงหาคม 2566 พบผู้ป่วยสะสม 3,239 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต โดยสถานการณ์โรค 8 สัปดาห์ที่ผ่านมา (สัปดาห์ที่ 27-34) พบผู้ป่วย 1,472 ราย แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้ จังหวัดนครราชสีมา พบผู้ป่วย 498 ราย จังหวัดสุรินทร์ พบผู้ป่วย 485 ราย จังหวัดชัยภูมิพบผู้ป่วย 286 ราย จังหวัดบุรีรัมย์ พบผู้ป่วย 203 ราย พบมากที่สุดในอายุ 2 ปี รองลงมาคือ อายุ 3 ปี และอายุ 1 ปี ตามลำดับ

นายแพทย์ทวีชัย กล่าวต่อว่า ข้อเสนอแนะในการป้องกันโรค มือ เท้า ปาก ขอให้โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก และผู้ปกครอง ควรปฏิบัติ ดังนี้

1. ผู้ปกครองคัดกรองอาการของเด็กก่อนไปเรียน หากเด็กไม่สบายหรือมีไข้ ร่วมกับมีแผลในปาก โดยอาจมีหรือไม่มีตุ่มน้ำที่มือหรือเท้าก็ได้ ควรพาไปพบแพทย์และให้พักอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ และไม่ควรคลุกคลีกับคนอื่นๆ ในครอบครัว หลีกเลี่ยงการพาบุตรหลานที่มีอาการป่วยไปในที่ชุมชน เช่น สนามเด็กเล่น บ้านบอล ตลาด ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น เพื่อลด การแพร่กระจายเชื้อและป้องกันการระบาดในชุมชน และให้เด็กสวมหน้ากากอนามัย

2. ให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ และหลังเล่นของเล่น และ 3. สถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนควรจัดให้มีอ่างล้างมือ และหมั่นรักษาความสะอาดของเล่นอุปกรณ์ ของเล่น และพื้นที่ที่เด็กใช้ร่วมกันเป็นประจำ เพื่อลดเชื้อโรคที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม

หากพบเด็กป่วย ขอให้แยกออกจากเด็กปกติและแจ้งให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน ค้นหาเด็ก ที่อาจป่วยเพิ่มเติม หากมีเด็กป่วยจำนวนมากอาจต้องพิจารณาปิดชั้นเรียน ประมาณ 1 สัปดาห์เพื่อทำความสะอาด และฆ่าเชื้อ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422.


 

ข่าวยอดนิยม