หน้าแรก > ภูมิภาค

กรมชลฯ ขอเกษตรกรงดปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง ลดความเสียหายจากพายุ

วันที่ 11 สิงหาคม 2566 เวลา 11:38 น.


กรมชลประทาน ทำหนังสือแจ้งผู้ว่าฯ จังหวัด ฝั่งลุ่มเจ้าพระยา ขอเกษตรกรงดปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง ลดความเสียหายจากพายุ

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดในลุ่มเจ้าพระยา  เรื่องขอความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์เกษตรกรพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยางดเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่องหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 9 พ.ค. 2566 เห็นชอบมาตรการรับมือฤดูฝนปี 66 ที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติภายใต้มาตรการดังกล่าวเพื่อรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ซึ่งล่าสุดกรมชลประทานเห็นว่าจากปรากฏการณ์เอลนีโญมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นกระทบต่อปริมาณฝนที่ตกน้อยกว่าค่าปกตินำมาซึ่งปริมาณน้ำในเขื่อนที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำในภาพร่วมซึ่งจะต้องพิจารณาเรียงตามภารกิจที่สำคัญคือการอุปโภค บริโภค การรักษาระบบนิเวศ การเกษตร อุตสาหกรรมและอื่นๆ

ทั้งนี้กรมชลประทานรายงานสถานการณ์น้ำว่า ณ วันที่ 9 ส.ค. 66 แผนการจัดสรรน้ำทั้งประเทศ 14,851 ล้านลบ.ม. ปัจจุบันจัดสรรแล้ว 11,087 ล้านลบ.ม.(75%) โดยลุ่มเจ้าพระยาแผนจัดสรร 5,500 ล้านลบ.ม. จัดสรรแล้ว 4,664 ล้านลบ.ม.(85%) สำหรับการเพาะปลูกข้าวนาปีข้อมูล ณ วันที่ 3 ส.ค. 66 แผนเพาะปลูกทั้งประเทศ 16.98 ล้านไร่ เพาะปลูกไปแล้ว 13.50 ล้านไร่(80%) ลุ่มเจ้าพระยาแผนเพาะปลูกข้าวนาปี 8.05 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว7.15 ล้านไร่(89%)

สำหรับกรณีกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 7 – 11 ส.ค. 66 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ส่งผลให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย อาจมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่นั้น กรมชลประทานได้สั่งการให้สำนักงานชลประทานทั่วประเทศเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด รวมทั้งปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 66 อย่างเคร่งครัด

ในส่วนของปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่ส่งผลให้ทั้งประเทศไทยเกิดฝนตกน้อยกว่าค่าปกตินานจนถึงปีหน้านั้น กรมชลประทานได้มีการบริหารจัดการน้ำอย่าประณีต และเน้นย้ำให้มีการเก็บกักน้ำในลำน้ำให้ได้มากที่สุด รวมถึงขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดเพื่อสำรองน้ำรับมือกับผลกระทบจากปรากฏการณ์ดังกล่าว

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม