หน้าแรก > สังคม

คืบหน้า...การดูแลรักษา "ตุลา" ลูกช้างป่าพลัดหลง สัตวแพทย์ และพี่เลี้ยง ยังต้องดูแลใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง

วันที่ 5 สิงหาคม 2023 เวลา 11:46 น.


ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) ร่วมกับสัตวแพทย์ สัตวบาล จากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) และเจ้าหน้าที่จากศูนย์แก้ไขปัญหาช้างป่าฯ ทำการรักษาและอนุบาลดูแลลูกช้างป่า "น้องตุลา" รายงานอาการและการรักษา รวมถึงผลตรวจ เข้ามา ว่า จากการยืนหลับไม่ยอมล้มตัวลงนอนของลูกช้างติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน ทำให้มีอาการเจ็บและอักเสบบริเวณขาหน้าทั้ง 2 ข้าง รวมไปถึงขาหลังขวา การย่างเดินผิดปกติ มีอาการบวมน้ำอักเสบบริเวณไหล่ข้างซ้ายร่วมด้วย มีปัญหาระบบกล้ามเนื้อและกระดูก พบว่ามีภาวะกระดูกบาง (Metabolic Bone Disease) จากการถ่ายภาพเอกซเรย์

สำหรับสาเหตุที่ไม่ยอมล้มตัวนอนเนื่องจากเจ็บขา และผลของการไม่ยอมล้มตัวนอนเป็นเวลาหลายวัน ทำให้บริเวณปากมีแผลผลจากการใช้งวงจับคอกไม้เพื่อพยุงน้ำหนักตัว ทำการหุ้มคอกไม้ด้วยผ้าลดการสัมผัสกับไม้โดยตรง ล้างปากและพ่นสเปรย์นาโนรักษาแผลในปาก

เบื้องต้นทำการปูพื้นคอกด้วยแผ่นยางหนาเพื่อลดแรงกดทับจากการยืนเป็นเวลานานในคอกพื้นปูน และทำเลเซอร์บริเวณขาทุกข้างที่มีการอักเสบและเจ็บ หัวไหล่ข้างซ้าย ทำการรักษาด้วยเครื่องแม็กเนติก (Magnetotherapy Vet เครื่องมือแพทย์ที่ทำการรักษาด้วยพลังงานสนามแม่เหล็ก) เพื่อเพิ่มความหนาแน่นตัวของกระดูก ลดบวมช้ำ ลดปวด ลดอักเสบ เร่งกระบวนการงอกของกระดูก ในกรณีที่สัตว์มีวิการกระดูกหัก กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดในร่างกาย และใช้ในกรณีกระดูกหัก กระดูกบางได้ทั้งหมดที่มีวิการเกี่ยวข้องกับระบบโครงสร้างของร่างกาย โดยได้รับการสนับสนุนเครื่องแม็กเนติกจากคุณกัญจนา ศิลปอาชา สัตวแพทย์ฉีดยาลดปวด ร่วมกับประคบเย็นและร้อนตามจุดต่างๆ ที่บวมและอักเสบ เสริมแคลเซียม วิตามินบีรวมบำรุงปลายประสาท วิตามินซีเพิ่มภูมิคุ้มกัน และยาบำรุงข้อให้กินทุกวัน

โดยเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2566 ได้รับการสนับสนุนเข้าประเมินอาการ สุขภาพ เก็บตัวอย่างเลือด และสวอปช่องปากจาก ผศ.สพ.ญ.ดร.สุภาเพ็ญ ศรีพิบูลย์ คณะทำงานสมาคมสัตวแพทย์สวนสัตว์และสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย และคลินิกช้างและสัตว์ป่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน น.สพ.ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ นายกสมาคมสัตวแพทย์สวนสัตว์และสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย และทีมสัตวแพทย์จากองค์การสวนสัตว์ (สวนสัตว์เปิดเขาเขียว) ผลการตรวจเฮอร์ปีส์ไวรัสจากตัวอย่างเลือดและสวอปช่องปากให้ผลเป็นลบ ผลตรวจเลือดมีค่าตับสูงกว่าปกติ ค่าแคลเซียมต่ำกว่าปกติ และค่าเอนไซม์กล้ามเนื้อสูงกว่าปกติมาก สำหรับปัสสาวะปกติ ถ่ายอุจจาระเป็นก้อน ทั้งนี้จะได้ทำการรักษา ดูแลใกล้ชิดและเฝ้าระวังอาการตลอด 24 ชั่วโมง

ที่มา : ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 - กระบกคู่ จังหวัดฉะเชิงเทรา

 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม