หน้าแรก > ภูมิภาค

บัสขนนักวิ่งเทรลตกเหวที่ศรีสะเกษ ไม่ได้ทำประกันไว้ คนขับ-เจ้าของรถ ต้องรับผิดชอบเยียวยาร่วมกัน

วันที่ 10 กรกฎาคม 2566 เวลา 21:19 น.


คืบหน้าเหตุรถทัวร์ขนนักกีฬา “สุรนารี เทรล” เสียหลักพลิกคว่ำบริเวณทางขึ้นผาพญากูปรี ชายแดนไทย-กัมพูชา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย และบาดเจ็บอีกจำนวน 48 คน โดยเจ้าหน้าที่กู้ภัยมูลนิธิสว่างจิตต์ฯ จุดอำเภอภูสิงห์ และ อ.ขุขันธ์ ได้ช่วยกันนำผู้บาดเจ็บส่ง รพ.ภูสิงห์ รพ.ขุขันธ์ รพ.บัวเชด และรพ.ศรีสะเกษ  ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุดเมื่อ วันที่ 10 ก.ค. 2566 เจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมประชุมกันที่โรงพยาบาลภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ หลังประชุม จ่าเอก สมควร สิงห์คำ นายอำเภอภูสิงห์ เปิดเผยว่า ในส่วนของเรื่องเยียวยาเบื้องต้น ได้รับแจ้งจากทางกองกำลังสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 จะมีเงินช่วยเหลือผู้เสียชีวิตรายละ 50,000 บาท ส่วนผู้บาดเจ็บยังไม่ได้รับแจ้งข้อมูลในส่วนนี้ ซึ่งได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัดศรีสะเกษ, คปภ.ศรีสะเกษ และแรงงานจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือในส่วนที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ก็ยังได้ประสานทาง มูลนิธิหลวงปู่สรวง วัดไพรพัฒนา ในฐานะเจ้าของรถ พิจารณาเยียวยาให้ความช่วยเหลือผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ อีกทางหนึ่งด้วย

อย่างไรก็ตาม รถบัสคันดังกล่าว เป็นรถที่ปลดประจำการจากกองทัพบก ซึ่งวิทยาลัยเทคโนโลยีหลวงปู่สรวง วัดไพรพัฒนา ได้ซื้อต่อมาปรับปรุง และตกแต่งเพื่อให้ใช้งานได้ตามปกติ โดยรถคนนี้อยู่ในระหว่างการขออนุญาต จากทางขนส่งจังหวัดศรีสะเกษ เพราะเป็นรถที่ใช้ในราชการทหารมาก่อน โดยในวันนี้เจ้าหน้าที่ขนส่งจังหวัดศรีสะเกษ จะลงพื้นที่ตรวจสอบเส้นทางการเดินรถ สถานที่เกิดเหตุและสภาพความพร้อมของตัวรถ

ด้านขนส่งจังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยว่า วันนี้ได้มีการลงพื้นที่มาตรวจดูสภาพรถคันเกิดเหตุ เบื้องต้นรถคันดังกล่าวไม่ได้มีการต่อ พ.ร.บ.กับทางขนส่งแต่อย่างใด ขณะที่มีกระแสว่า ทางเจ้าของรถได้มียื่นเอกสารกับทางขนส่งไปแล้วหลายเดือน แต่ทางขนส่งไม่ยอมออกให้นั้น ขอยืนยันเลยว่าถ้ามีการยื่นเอกสารขอจดทะเบียน หรือ ต่อ พ.ร.บ. กับทางขนส่งนั้นไม่เกิน 1 วัน ทางขนส่งก็จะทำให้แล้วเสร็จ ไม่มีการค้างไว้นานเป็นเดือนๆ แต่อย่างใด

ด้าน พ.ต.อ.เทพพิทักษ์ แสงกล้า รอง ผบก.ภ.จว.ศรีสะเกษ เปิดเผยว่า ในส่วนของทางคดี เบื้องต้น พนักงานสอบสวน สภ.ภูสิงห์ จะได้ทำการสอบสวนผู้บาดเจ็บให้ครบถ้วน ส่วนคนขับรถหลังรักษาตัวหายจากอาการบาดเจ็บแล้ว จะได้แจ้งข้อหาดำเนินคดีทางกฎหมาย ในข้อหา ขับรถประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ในส่วนของรถคันดังกล่าว จากการตรวจสอบว่ามีการต่อ ภาษี พ.ร.บ. หรือไม่นั้น เบื้องต้นยังไม่พบเอกสารหลักฐานมาแสดง ซึ่งหากไม่มีการต่อ ภาษี พ.ร.บ. เจ้าของรถ จะต้องร่วมรับผิดชอบในการเยียวยาผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ร่วมกับคนขับรถด้วย

จากเหตุการณ์ดังกล่าว มีคนเสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บ 48 ราย มีที่ยังนอนรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี 7 ราย โรงพยาบาลศรีสะเกษ 7 ราย โรงพยาบาลร้อยเอ็ด 1 ราย สุรินทร์ 3 ราย รวมที่ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 18 ราย ออกจากโรงพยาบาลแล้ว 30 คน.

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม