หน้าแรก > การเมือง

‘พิธา’ ย้ำไม่หวงปมหุ้นสื่อ มั่นใจ เดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลได้ คาดสรุปตำแหน่งประธานสภาฯ กลางเดือน มิ.ย.

วันที่ 2 มิถุนายน 2023 เวลา 14:21 น.


วันนี้ (2 มิ.ย.2566) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล เปิดเผยว่าจนถึงตอนนี้ได้สอบถามไปยังฝ่ายกฎหมายของพรรค ว่ายังไม่ได้มีการเชิญจาก กกต. ให้เข้าไปชี้แจงกรณีคำร้องเรื่องการถือหุ้นสื่อ บริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) ก็ย้ำว่าเรื่องเกี่ยวกับหลักฐานและหลักกฎหมายหากมีการตัดสินกันอย่างยุติธรรมอย่างที่เคยมีมาก็ไม่น่ากังวลอะไร พร้อมกล่าวถึงกรอบการรับรอง ส.ส. ว่า อย่างช้าสุดคือในวันที่ 13 ก.ค. ภายใต้กรอบ 60 วัน หรือการรับรองร้อยละ 95 หากล่าช้าไป ยอมรับว่าโอกาสที่จะทำตามกระบวนการไม่สามารถที่จะติดกระดุมเม็ดแรกได้ ซึ่งหมายถึงไม่สามารถเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ เพื่อเลือกประธานสภาและรองประธานสภา รวมถึงการตั้งรัฐบาลไม่ได้ ทำให้เกิดความล่าช้า ประชาชนก็คงเรียกร้องให้ กกต. ทำรวดเร็วมากขึ้น ก็ยิ่งเป็นประโยชน์กับประชาชน



นายพิธา ยังระบุ ถึงความคืบหน้าตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรว่า จากข้อความโพสต์ทวิตเตอร์ของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่กล่าวเอาไว้ว่าคำว่า "จบแล้ว" มีนิยาม ของมัน ไม่ได้หมายความว่าจบแล้วที่ตัวบุคคล แต่ในความขัดแย้งมีกระบวนการในการแก้ไขปัญหา ว่าจะทำอย่างไรเกี่ยวกับตำแหน่งประธานสภาให้เป็นของประชาชน โดยยังคงยืนยันการให้สัมภาษณ์ของนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ที่เป็นทีมเจรจาบอกไว้ว่าจะมีความชัดเจนในช่วงกลางเดือนมิถุนายนนี้ และสิ่งที่นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ได้พูดเอาไว้ไม่เป็นความจริง

หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่ นายเสกสกล อัตถาวงศ์ สมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวถึงพรรคก้าวไกลว่าระวังฝันค้าง หลังพรรคก้าวไกลที่บอกให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เตรียมเก็บของออกจากทำเนียบ โดยระบุว่า หากพูดให้เข้าใจตรงกันคือเมื่อมีการเปลี่ยนผ่านอำนาจ ปกติคนที่แพ้การเลือกตั้ง ก็จะต้องแสดงความยินดีกับผู้ชนะ และยอมแพ้พร้อมทั้งส่งมอบงานให้กับรัฐบาลต่อไปหากเอาประชาชนมาเป็นที่ตั้ง แต่อาจจะมีเรื่องว่ายังมีการพูดคุยระหว่างสภาล่างและสภาสูง

นายพิธา ยังกล่าวถึงข้อห่วงกังวลของประธานสภาแรงงานเรื่องค่าแรง 450 บาท ว่าหากรัฐบาลพรรคก้าวไกลไม่สามารถทำได้ใน 100 วันแรก อาจจะมีกลุ่มแรงงานไปยื่นร้อง กกต. ว่าสัญญาว่าจะให้แต่ทำไม่ได้นั้น โดยยืนยันว่าในช่วง 100 วันแรกตามกฏหมายจะต้องให้ไตรภาคี คือ ลูกจ้าง 5 คน - นายจ้าง 5 คน - ฝ่ายของรัฐ 5 คน พูดคุยกัน หากลูกจ้างเห็นว่าค่าแรง 450 บาท เป็นจำนวนที่เหมาะสม หากจะได้ 10 วันต่อเดือนหรือ 20 วันต่อเดือน ก็ขึ้นอยู่กับระยะเวลาทำงานของแต่ละคน ก็ยังไม่ถึงจำนวน 10,000 บาท และขณะนี้ค่าครองชีพสูงมากในการใช้ชีวิต จึงเชื่อว่าจะสามารถเป็นไปได้ใน 100 วันแรก จะมีการเจรจากันเกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องพูดคุยกับนายจ้างและผู้ประกอบการ ที่จะได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรง และเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงาน

ข่าวยอดนิยม