หน้าแรก > สังคม

อันตราย "สารแอฟลาทอกซิน" สารพิษจากเชื้อราในอาหารแห้ง

วันที่ 6 พฤษภาคม 2566 เวลา 15:40 น.


ประเทศไทยมีภูมิอากาศร้อนชื้น ยิ่งถ้าเข้าสู่ฤดูฝน อากาศจะชื้นมากขึ้น ซึ่งเป็นสภาวะที่เหมาะกับการเกิดเชื้อราในอาหาร โดยเฉพาะเชื้อราบางกลุ่มที่สามารถสร้างสาร “แอฟลาทอกซิน” ซึ่งเป็นสารพิษที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย

องค์การอนามัยโลกกำหนดให้แอฟลาทอกซินเป็นสารก่อมะเร็งที่ร้ายแรงมากชนิดหนึ่งโดยปริมาณเพียง 1 ไมโครกรัม สามารถทำให้เกิดการกลายพันธุ์ในแบคทีเรียและทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลองได้ หากได้รับอย่างต่อเนื่อง "สารแอฟลาทอกซิน" สามารถพบได้ทั่วไปในอาหาร และผลผลิตทางการเกษตร อาหารที่มักพบว่ามี "สารแอฟลาทอกซิน" ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ประเภทแป้ง อาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากถั่วลิสง และ ยังพบปนเปื้อนอยู่ใน ข้าวโพด มันสำปะหลัง อาหารแห้ง เช่น ผักและผลไม้อบแห้ง ปลาแห้ง กุ้งแห้ง ธัญพืช เนื้อมะพร้าวแห้ง หัวหอมแห้ง กระเทียมแห้ง พริกแห้ง พริกไทย งา เม็ดมะม่วงหิมพานต์ และถั่วอื่น ๆ

ส่วนใหญ่ผู้ที่ได้รับ "สารแอฟลาทอกซิน" ในระยะแรกจะไม่มีอาการแต่จะแสดงอาการเมื่อร่างกายได้รับสารพิษในปริมาณมาก ๆ ทำให้เกิดอาการอาเจียน ทองเดิน หรือหากรับประทานปริมาณน้อยแต่บ่อยครั้งจะไปสะสมเป็นพิษที่ตับทำให้เนื้อตับมีไขมันสะสมมากเซลล์ตับถูกทำลายจนอักเสบมีเลือดออกจนตับแข็ง อาจทำให้เกิดโรคมะเร็ง หรือโรคตับอื่น ๆ ทั้งนี้ ระดับของความเป็นพิษขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น ปริมาณที่ได้รับ ความถี่ของการรับประทาน อายุ เพศ การทำงานของเอนไซม์ในตับ และปัจจัยโภชนาการอื่น ๆ

วิธีการป้องกันสารแอฟลาทอกซิน

  • เลือกซื้ออาหารหรือวัตถุดิบแห้งที่อยู่ในสภาพใหม่บรรจุภัณฑ์ได้มาตรฐาน ไม่แตกหรือชำรุด ไม่มีเชื้อรา สะอาด
  • ต้องไม่มีกลิ่นเหม็นอับ ส่งกลิ่นเหม็น หรือชื้น
  • ไม่เก็บอาหารแห้งไว้เป็นเวลานาน เพราะจะทำให้เกิดการสะสมของเชื้อรา ควรเก็บในที่แห้ง ไม่อับชื้น
  • นำอาหารแห้งไปตากแดดจัด ๆ เพราะสามารถช่วยลดความชื้นในอาหารได้
  • หากอาหารมีราขึ้น ควรทิ้งให้หมด ไม่ควรตัดเฉพาะส่วนที่ขึ้นราทิ้งไป เพราะอาจมีสารแอฟลาทอกซิน กระจายไปทั่ว

ขอบคุณข้อมูลจาก www.oryor.com 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม