หน้าแรก > สังคม

กทม. เทศกิจ ย้ายซากยานยนต์ถนนเทศบาลรังสรรค์เหนือ ชมคัดแยกขยะตลาดบองมาร์เช่ ตรวจวัดควันดำอู่รถนครชัยแอร์

วันที่ 12 เมษายน 2566 เวลา 05:36 น.


กทม. เทศกิจ ย้ายซากยานยนต์ถนนเทศบาลรังสรรค์เหนือ ชมคัดแยกขยะตลาดบองมาร์เช่ ตรวจวัดควันดำอู่รถนครชัยแอร์ จัดระเบียบผู้ค้าถนนกำแพงเพชร 4 เช็กระบบจัดเก็บรายได้ BMA-TAX ตรวจแยกขยะเขตจตุจักร กำชับผู้รับจ้างเร่งรัดโครงการสวนจากภูผาสู่มหานที

(11 เม.ย.66) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตจตุจักร ประกอบด้วย

ติดตามการเคลื่อนย้ายซากยานยนต์ที่จอดทิ้งไว้บนถนนหรือสถานที่สาธารณะ บริเวณถนนเทศบาลรังสรรค์เหนือ เขตฯ ได้สำรวจความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ ประกอบกับได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่ามีซากยานยนต์จอดทิ้งไว้บริเวณดังกล่าว จำนวน 2 คัน โดยได้ประสานสถานีตำรวจนครบาลท้องที่ตรวจสอบว่าอยู่ระหว่างการพิสูจน์ทางคดีหรือไม่ พร้อมทั้งปิดประกาศให้เคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ภายในระยะเวลา 15 วัน แต่ยังไม่มีผู้ใดมาทำการเคลื่อนย้าย ซึ่งจากการตรวจสอบไม่พบเจ้าของหรือผู้ครอบครองซากยานยนต์ โดยวันนี้เขตฯ ร่วมกับสำนักเทศกิจ และกองโรงงานช่างกล สำนักการคลัง ซึ่งให้การสนับสนุนรถสไลด์ในการเคลื่อนย้ายซากยานยนต์ เพื่อนำไปไว้บริเวณสถานที่เก็บรักษาของกลางเขตหนองแขม โดยจะจัดเก็บซากยานยนต์ไว้เป็นระยะเวลา 6 เดือน หากไม่มีเจ้าของหรือผู้ครอบครองมาติดต่อ จะดำเนินการขายทอดตลาดซากยานยนต์ตามระเบียบของทางราชการว่าด้วยการดำเนินคดีต่อไป จากสถิติการเคลื่อนย้ายซากยานยนต์ในพื้นที่เขตจตุจักร ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 ถึงเดือนมีนาคม 2566 ได้รับแจ้งจากประชาชนผ่านทางสายด่วน 1555 และ Traffy Fondue จำนวนทั้งสิ้น 71 คัน เจ้าของเคลื่อนย้าย จำนวน 56 คัน เขตฯ เคลื่อนย้าย จำนวน 13 คัน ติดป้ายประกาศครบกำหนดรอเคลื่อนย้าย จำนวน 2 คัน มีการเปรียบเทียบปรับไปแล้ว จำนวน 1 คัน เป็นเงิน 2,500 บาท (เลขคดี134/65) รายได้ตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 2 คัน เป็นเงิน 32,400 บาท ปัจจุบันเก็บไว้ที่ศูนย์เก็บซากยานยนต์หนองแขม จำนวน 8 คัน อยู่ระหว่างทำหนังสือขายทอดตลาด จำนวน 6 คัน สำหรับผลการดำเนินงานจัดการซากยานยนต์จอดทิ้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี พ.ศ.2562-2566 ตรวจพบซากยานยนต์ จำนวน 1,301 คัน เจ้าของเคลื่อนย้าย จำนวน 1,091 คัน สำนักงานเขตเคลื่อนย้าย จำนวน 162 คัน และรอเคลื่อนย้าย จำนวน 48 คัน ทั้งนี้ได้มีการเปรียบเทียบปรับไปแล้ว จำนวน 28 คัน และขายทอดตลาด จำนวน 11 คัน

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ตลาดบองมาร์เช่ ถนนเทศบาลสงเคราะห์ พื้นที่ 17 ไร่ พนักงานในตลาด 128 คน ร้านค้าในตลาด 182 ร้าน ผู้มาใช้บริการ 2,000 คน เข้าร่วมโครงการการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2556 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ ผู้ค้าคัดแยกขยะอาหารนำส่งเกษตรกรเลี้ยงปลาทุกๆ 2 วัน ผู้ค้าคัดแยกเปลือกผักผลไม้นำส่งเขตฯ เพื่อทำปุ๋ยอินทรีย์ทุกวัน 2.ขยะรีไซเคิล ผู้ค้าคัดแยกขยะรีไซเคิลส่งจำหน่ายเดือนละ 2 ครั้ง 3.ขยะอันตราย ผู้ค้ารวบรวมขยะอันตราย เพื่อส่งให้เขตฯ ทุกๆ 15 วัน สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 12,000 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 0 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 50 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 40 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 300 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 300 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 0.2 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 0.2 กิโลกรัม/วัน

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 บริษัท นครชัยแอร์ จำกัด ซอยวิภาวดีรังสิต 19 ถนนวิภาวดีรังสิต ตรวจวัดค่าควันดำรถโดยสาร เพื่อรองรับการเดินทางที่ไม่ก่อมลพิษทางอากาศ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566 โดยใช้เครื่องตรวจวัดควันดำด้วยระบบความทึบแสง จากนั้นเร่งเครื่องยนต์อย่างรวดเร็วจนสุดคันเร่ง และคงไว้ที่ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 2 วินาที ทำการตรวจวัดค่าควันดำ 2 ครั้ง ใช้ค่าสูงสุดที่วัดได้เป็นเกณฑ์ตัดสิน สำหรับค่ามาตรฐานควันดำตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดมาตรฐานค่าควันดำของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัด พ.ศ.2564 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 13 เมษายน 2565 กำหนดค่ามาตรฐานควันดำตรวจด้วยเครื่องมือวัดระบบความทึบแสงต้องไม่เกิน 30% และตรวจด้วยเครื่องมือวัดระบบกระดาษกรองต้องไม่เกิน 40% ส่วนค่ามาตรฐานเสียงระดับเสียงปลายท่อไอเสียรถยนต์ต้องไม่เกิน 100 เดซิเบล ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบกิจการที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยกำชับผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามแนวทางป้องกันฝุ่น PM2.5 เพื่อให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด

ตรวจความเป็นระเบียบเรียบร้อยพื้นที่ทำการค้า บริเวณถนนกำแพงเพชร 4 ตรงข้ามสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน (อยู่ระหว่างรอประกาศ) จำนวน 1 จุด คือบริเวณถนนกำแพงเพชร 4 ตั้งแต่ห้างสรรพสินค้ามิกซ์จตุจักรถึงทางเท้าลานจอดรถห้างเจเจมอลล์ ผู้ค้า 40 ราย ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณถนนสายหลักและถนนสายรอง จำนวน 9 จุด ผู้ค้า 207 ราย ได้แก่ 1.ถนนกำแพงเพชร (ตึกแดง) ผู้ค้า 35 ราย 2.ถนนกำแพงเพชร 3 ผู้ค้า 72 ราย 3.ถนนกำแพงเพชร 4 ผู้ค้า 40 ราย 4.ถนนเทศบาลสงเคราะห์ ผู้ค้า 12 ราย 5.ปากซอยรัชดาภิเษก 32 ผู้ค้า 13 ราย 6.หน้าสวนจตุจักร ผู้ค้า 10 ราย 7.หน้าห้างยูเนี่ยนมอลล์ ผู้ค้า 13 ราย 8.หน้าโรงพยาบาลเปาโลเกษตร ผู้ค้า 3 ราย และ 9.หน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ค้า 9 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาปรับปรุงแผงค้าให้มีรูปแบบและลักษณะเดียวกัน กวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสิ่งของรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ทางเท้า เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่

ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ ขั้นตอนและระยะเวลาในการเข้าสู่ระบบการชำระภาษี การบันทึกข้อมูลและการค้นหารายชื่อผู้เสียภาษี การพิมพ์เอกสารจัดเก็บภาษีรายได้ ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายทั้งแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) เพื่อเตรียมพร้อมในการประเมินภาษีปี 2566 ซึ่งในพื้นที่เขตฯ มีที่ดิน 51,599 แปลง สำรวจแล้ว 50,842 แปลง คงเหลือ 757 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 66,045 แห่ง สำรวจแล้ว 65,975 แห่ง คงเหลือ 70 แห่ง ห้องชุด 70,211 ห้อง สำรวจครบแล้ว สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 187,855 รายการ สำรวจแล้ว 187,028 รายการ คงเหลือ 827 รายการ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีรายได้ ตลอดจนให้คำแนะนำในการจัดเก็บภาษีประเภทต่างๆ เน้นย้ำการทำงานด้วยความรอบคอบโปร่งใส เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามเป้าหมายที่กำหนด

ตรวจเยี่ยมอาคารต้นแบบการคัดแยกขยะ สำนักงานเขตจตุจักร มีข้าราชการและบุคลากร 230 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล เจ้าหน้าที่แต่ละฝ่ายคัดแยกขยะรีไซเคิล ใส่ถังขยะที่เตรียมไว้ตามโครงการไม่เทรวม ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จัดเก็บทุกวันศุกร์ 2.ขยะอินทรีย์ เจ้าหน้าที่แต่ละฝ่ายคัดแยกขยะอินทรีย์ ใส่ถังเศษอาหารที่เตรียมไว้ตามโครงการไม่เทรวม ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จัดเก็บทุกวัน 3.ขยะทั่วไป เจ้าหน้าที่แต่ละฝ่ายนำขยะที่เหลือจากคัดแยกประเภทขยะรีไซเคิลและขยะอินทรีย์ใส่ในถังขยะทั่วไป จัดเก็บโดยแม่บ้านที่ประจำอยู่แต่ละชั้นทุกวัน สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไป ขยะรีไซเคิล ขยะอินทรีย์ ปริมาณขยะก่อนคัดแยกรวมทั้ง 3 ประเภท  86 กิโลกรัม/วัน ขยะทั่วไปหลังคัดแยก 59 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 0.35 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 3 กิโลกรัม/วัน

ติดตามความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างสวนจากภูผาสู่มหานที ถนนกำแพงเพชร 3 สำหรับความเป็นมาของสวนจากภูผาสู่มหานที ภายในสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เนื่องด้วยพื้นที่บริเวณลานจอดรถ พื้นที่ประมาณ 10 ไร่ ซึ่งเดิมมูลนิธิสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ได้ให้เอกชนเช่าจัดทำโครงการตลาดนัด JJ-Green ต่อมาได้สิ้นสุดสัญญาเช่าพื้นที่ มูลนิธิฯ จึงมีความต้องการปรับปรุงพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นสวนป่ากลางกรุง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้แก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป โดยมูลนิธิฯ ได้ดำเนินการว่าจ้าง บริษัท ฉมา โซเอน จำกัด เป็นผู้รับจ้างออกแบบโครงการ และได้ส่งมอบรูปแบบก่อสร้างให้แก่สำนักสิ่งแวดล้อม เพื่อขอจัดสรรงบประมาณดำเนินการก่อสร้าง โดยแนวความคิดในการออกแบบ ได้น้อมพระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์ป่าของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และนำเอาแนวพระราชเสาวนีย์ “ปลูกป่าในใจคน” มาเป็นแนวความคิดหลักในการออกแบบ โดยสวนแห่งนี้จะเป็นสถานที่เก็บรวบรวมพรรณไม้ต่างๆ จากทั่วประเทศ พรรณไม้ทรงปลูกในสถานที่ต่างๆ ตั้งแต่พรรณไม้บนที่สูง จนถึงพรรณไม้ในที่ลุ่ม ตามแนวคิด “จากภูผาสู่มหานที” โดยเป็นการสร้างให้เกิดระบบนิเวศป่าที่สมบูรณ์ในพื้นที่โครงการ รวมทั้งมีพื้นที่สำหรับฝึกอบรมเยาวชนเกี่ยวกับการปลูกป่า เป็นพื้นที่พักผ่อน และเป็นสถานที่ทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งสำนักสิ่งแวดล้อมได้จ้างเหมาบริษัท ทริโอ ไบรท์ จำกัด ดำเนินงานโครงการก่อสร้าง ลงวันที่ 11 มกราคม 2564 และสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม (ครั้งที่ 1) ลงวันที่ 17 มีนาคม 2565 ระยะเวลาก่อสร้าง 540 วัน สิ้นสุดสัญญาวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ปัจจุบันการก่อสร้างแล้วเสร็จ 98.40% ซึ่งล่าช้ากว่ากำหนดสัญญา คงเหลือในส่วนของงานบรรจบระบบไฟฟ้าแรงสูงและติดตั้งมิเตอร์ งานระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ติดตั้งโคมไฟทางเดิน-วิ่ง สะพาน และอาคารสุขาสาธารณะ งาน CCTV เสียงตามสาย งานทางเดิน-วิ่งผิวทาง asphalt งานครุภัณฑ์ ติดตั้งปั๊ม wetland และระบบประปา งานปลูกต้นไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม ไม้คลุมดิน และกล้าไม้ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้รับจ้างให้ดำเนินการในส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งผู้รับจ้างยืนยันว่าจะเร่งรัดการทำงานให้แล้วเสร็จทั้งหมดภายในเดือนพฤษภาคม 2566 
 

 

 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม