หน้าแรก > สังคม

สบยช. เตือนเทศกาลสงกรานต์ ดื่มต้องไม่ขับโดยเด็ดขาด ร่วมรับผิดชอบต่อสังคม

วันที่ 11 เมษายน 2566 เวลา 11:17 น.


กรมการแพทย์โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) เตือนในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ ดื่มต้องไม่ขับโดยเด็ดขาด ร่วมรับผิดชอบต่อคนรอบข้างและสังคม ระวังผลกระทบที่ตามมาร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า  ในช่วงกลางเดือนเมษายนของทุกปี ประเทศไทยจะเข้าสู่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ซึ่งจะมีวันหยุดยาว ประชาชนส่วนใหญ่ที่ทำงานไกลบ้าน มักจะนิยมเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อพักผ่อนกับครอบครัวและอาจมีการรวมกลุ่มเพื่อดื่มสังสรรค์ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างมากเพราะเมื่อมีการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เข้าสู่ร่างกาย จะทำให้ผู้ดื่มขาดสติ ควบคุมตัวเองไม่ได้ อาจเป็นสาเหตุของการทะเลาะวิวาท หรือ.เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ทำให้สูญเสียทรัพย์สิน บางรายบาดเจ็บ ร้ายแรงที่สุดอาจถึงขั้นเสียชีวิต ภายหลังจากการดื่มอย่างหนัก ตื่นมาจะมีอาการเมาค้าง ทำให้อ่อนเพลีย คลื่นไส้ ปวดศีรษะ หัวใจเต้นเร็ว นอกจากนี้การดื่มสุรายังเกิดพิษต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ผลต่อสมอง ทำให้สมองเสื่อม ความคิด ความจำบกพร่อง การตัดสินใจและการใช้เหตุผลผิดพลาด ผลต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ เกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบ เลือดออกในกระเพาะอาหาร ซึ่งถ้ามีเลือดออกมากอาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้

นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ย้ำเตือนทุกคนที่ต้องขับขี่ยานพาหนะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่ เตรียมความพร้อมของรถโดยการตรวจเช็คสภาพ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ดื่มสุราก่อนขับรถโดยเด็ดขาด การดื่มสุรานอกจากส่งผลต่อสุขภาพของผู้ดื่มเองแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสังคมในอีกหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น การทะเลาะวิวาท ทำร้ายตนเอง ทำร้ายผู้อื่น และที่ชัดเจนที่สุด คือ การดื่มแล้วขับขี่ยานพาหนะ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน นอกจากนี้การเมาแล้วขับยังมีความผิดที่ต้องรับโทษและถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ฝากถึงผู้ที่ชื่นชอบการดื่มสุราต้องมีความรับผิดชอบต่อคนรอบข้างและสังคมให้มาก ไม่เพียงแต่เมาไม่ขับ แต่หากมีการดื่มต้องไม่ขับขี่ยานพาหนะโดยเด็ดขาด ทุกคนในครอบครัวควรหมั่นดูแลซึ่งกันและกัน คอยบอกคอยเตือน คอยสังเกตพฤติกรรม และพึงระลึกไว้เสมอว่าอย่าให้ชีวิตต้องตกอยู่ในความยากลำบากเพียงเพราะความสนุกจากการดื่มสังสรรค์เท่านั้น ทั้งนี้หากประสบปัญหาเกี่ยวกับสุรา หรือยาและสารเสพติด สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165  หรือเข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดได้ที่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม