หน้าแรก > สังคม

เคลื่อนย้ายลูกช้างป่า "มีนา" ไปอนุบาลที่กระบกคู่ หลังฝูงช้างไม่กลับมารับเข้าป่า ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยต่อตัวลูกช้าง

วันที่ 5 เมษายน 2023 เวลา 23:31 น.


เคลื่อนย้ายลูกช้างป่า "มีนา" ไปอนุบาลที่กระบกคู่ หลังฝูงช้างไม่กลับมารับเข้าป่า ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยต่อตัวลูกช้าง

วันที่ 5 เม.ย.66 นางสาวมัชฌมณ แก้วพฤหัสชัย หัวหน้าศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) รายงานว่า ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) ร่วมกับสัตวแพทย์ประจำส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ป่าเขากระป็อด เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ และสัตวบาลจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าช่องกล่ำบน เข้าติดตามอาการและดูแลลูกช้างป่า "น้องมีนา" ณ หน่วยพิทักษ์ป่าเขากระป็อด เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ จังหวัดบุรีรัมย์

จากการตรวจสุขภาพพบว่า สุขภาพโดยรวมของลูกช้างป่าปกติ ค่าคะแนนความสมบูรณ์ของร่างกาย = 2/5 (1 = ผอมมาก 2 = น้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน 3 = น้ำหนักมาตรฐาน 4 = น้ำหนักเกินมาตรฐาน 5 = อ้วน) ถือว่าเกณฑ์ขนาดตัวต่ำกว่ามาตรฐาน และร่างกายขาดน้ำ พฤติกรรมลูกช้างร่าเริง ตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมได้ดี กินนม และขับถ่ายได้ปกติ ทำการเสริมวิตามินซีและแคลเซียมให้กิน สำหรับการนอนหลับลูกช้างนอนหลับได้ดีในช่วงกลางวัน สามารถแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติได้ดี แต่เริ่มมีพฤติกรรมติดคน ติดพี่เลี้ยงและวิ่งเข้าหาคน

และเมื่อคืนวันที่ 30, 31 มีนาคม 1, 2 เมษายน 2566 ได้ทำการตามหาช้างฝูงที่มีลูกช้าง โดยได้รับความอนุเคราะห์โดรนตรวจจับความร้อนจากกลุ่ม save ฅน save ช้าง เพื่อหาโอกาสกลับเข้าฝูง ซึ่งพบว่ามีช้างฝูงอยู่ 1 ฝูง (ประมาณ 18 ตัว มีลูกช้างป่าเล็กๆ อยู่ด้วย คาดว่าเป็นฝูงเดียวกับที่ลูกช้างป่า "น้องมีนา" พลัดหลงออกมา) ที่อยู่ใกล้ๆ หน่วยพิทักษ์ป่าเขากระป็อด แต่ฝูงช้างป่าดังกล่าวไม่มารับลูกช้างป่ากลับฝูง

ด้านนายภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า ได้เข้าเยี่ยมและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งหารือแนวทางในการจัดการและดูแลน้องมีนาต่อไป ในกรณีปล่อยคืนสู่ธรรมชาติไม่สำเร็จ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการเกิดภาวะวิกฤตของลูกช้างป่าที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะเกรงว่าลูกช้างป่าจะเกิดการบอบช้ำและมีความเครียดทำให้เกิดอาการป่วยหรือทรุดลงได้ จึงเห็นควรพิจารณาเคลื่อนย้ายลูกช้างป่าไปทำการรักษาและอนุบาลฟื้นฟูร่างกายในพื้นที่ที่เหมาะสมต่อไป
เหตุผลที่ต้องมีการวางแผนในการเคลื่อนย้ายนั้นเนื่องจากข้อกำจัดที่พบ คือ สภาพอากาศในพื้นที่มีอากาศร้อนจัดในเวลากลางวัน อาจทำให้ลูกช้างป่าเกิดภาวะขาดน้ำได้ ประกอบกับในบริเวณใกล้เคียงมีผู้ล่า ได้แก่ เสือโคร่ง และมีช้างป่าโทน เดินวนเวียน ซึ่งอาจทำอันตรายต่อลูกช้างป่าในคอกชั่วคราวได้ ระหว่างนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและดูแลตลอด 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้จากข้อสั่งการของผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าและความเห็นทางการแพทย์เห็นตรงกันที่จะให้ทำการเคลื่อนย้าย "น้องมีนา" ไปรักษาและอนุบาลฟื้นฟูร่างกาย ณ ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) ซึ่งสัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) ได้เข้าทำการเจาะเลือดตรวจสุขภาพและตรวจเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2566 ก่อนทำการเคลื่อนย้าย สำหรับการเคลื่อนย้าย ได้รับการสนับสนุนรถเคลื่อนย้ายสัตว์ป่าจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าช่องกล่ำบน จังหวัดสระแก้ว

ล่าสุดเมื่อเวลาประมาณ 20.00 น. "น้องมีนา" ลูกช้างป่าพลัดหลง ออกเดินทางไปยังศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) แล้ว ซึ่งทีมสัตวแพทย์ พร้อมเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างเดินทางนำน้องมีนาลูกช้างป่าพลัดหลงมาอนุบาลดูแลต่อที่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) โดยมีพี่เลี้ยงประจำของน้องติดตามมาด้วย ทั้งนี้ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) ได้เตรียมสถานที่ไว้แล้ว ซึ่งยังต้องแยกน้องตุลากับน้องมีนาออกจากกันก่อน
 

เครดิต กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม