วันที่ 2 เมษายน 2568 เวลา 15:45 น.
2 เมษายน 2568 ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความระบุ "ทำไมพระธาตุอินทร์แขวน ถึงไม่กลิ้งลงมา หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว?"
มีคำถามมาจากข่าว (ดูลิงค์ด้านล่าง) เกี่ยวกับ "พระธาตุอินทร์แขวน" 1 ใน 5 สิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญสูงสุด หรือ “เบญจมหาบูชาสถาน” ของประเทศเมียนมา ที่แม้จะเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ที่ระดับความแรง 8.2 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา และทำให้ยอดของพระธาตุสั่นไหวไปตามความรุนแรง จนกลายเป็นคลิปไวรัล แต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบ !?
ซึ่งก็ทำให้หลายต่อหลายคนแปลกใจ ที่หินยักษ์ก้อนนี้ ซึ่งมีน้ำหนักหลายร้อยตัน และมาตั้งอยู่บนริมผา ในลักษณะท้าทายแรงดึงดูดของโลกจนดูเหมือนจะตกมิตกแหล่ กลับไม่มีการเคลื่อนแต่อย่างใดหลังในเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ที่ผ่านมา
ซึ่งก็คงเป็นเพราะมีหลายคนเข้าใจผิด คิดว่าก้อนหินพระธาตุอินทร์แขวนนี้ เกิดจากการที่ในอดีต มีก้อนหินเคลื่อนที่หล่นลงมา แล้วติดคาอยู่ริมเพิงผาของยอดเขาพวงลวง โดยมีจุดศูนย์ถ่วงที่สมดุลพอดี ทำให้น้ำหนักไปอยู่บนต้วหน้าผา มากกว่าออกไปทางส่วนที่ยื่นออกไป !?
แต่ๆๆ ความจริงแล้วไม่ใช่แบบนั้นครับ ! ก้อนหินที่ตั้งอยู่ของพระธาตุอินทร์แขวนนี้ จริง ๆ แล้ว เป็น "หินก้อนเดียวกันกับตัวหน้าผา" นั่นแหละครับ
ในทางธรณีวิทยานั้น ก้อนหินที่เห็นตั้งอยู่บนหน้าผา จริงๆ แล้ว เป็นผลจากการที่น้ำ ไปกัดเซาะ (erosion) ชั้นหินแกรนิตที่แตกร้าวในแนวตั้งและแนวนอน ทำให้น้ำไหลไปตามแนวรอยแยกของหิน และกัดเซาะเปลี่ยนแปรรูปร่างของหินอย่างช้าๆ เป็นเวลาอันยาวนาน จนทำให้ก้อนหินดูเป็นรูปกลมเกลี้ยงขึ้น และดูหลอกตา เหมือนกับว่าก้อนหินนี้ถูกยกขึ้นไปวางไว้บนหน้าผา อย่างน่าอัศจรรย์ครับ
"ในทางธรณีวิทยา อธิบายการเกิดของพระธาตุนี้ว่า เป็นผลจากการกัดเซาะ (erosion) ตามธรรมชาติ ที่ปรากฏขึ้นตามที่ต่างๆ ทั่วโลก เพียงแต่หาดูได้ยากสักหน่อย
สาเหตุนั้น เกิดจากการยกตัวของชั้นหินแกรนิต และเกิดการแตกร้าวขึ้นได้ทั้งในแนวตั้งและแนวนอน หลังจากนั้น น้ำเป็นตัวการในการกัดเซาะ โดยไหลไปตามแนวรอยแยกของหิน และกัดเซาะเปลี่ยนแปรรูปร่างของหินอย่างช้าๆ เป็นเวลาอันยาวนาน จนทำให้ก้อนหินดูเป็นรูปกลมเกลี้ยงขึ้น และดูหลอกตา เหมือนกับว่าก้อนหินนี้ถูกยกขึ้นไปวางไว้บนหน้าผา อย่างน่าอัศจรรย์
ปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาแบบนี้ อาจจะเรียกว่า เป็น balancing rock หรือหินสมดุล (หรือ balanced rock หรือ precarious boulder) ซึ่งเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ และทำให้เห็นก้อนหินขนาดใหญ่ ไปตั้งอยู่บนก้อนหินก้อนอื่นหรือหน้าผา
หินสมดุลนั้น มีทั้งแบบที่เกิดจากการที่หินก้อนใหญ่ ไหลมาตามการเคลื่อนที่อันทรงพลังของ "ธารน้ำแข็ง Glacial" จนทำให้มันย้ายไปอยู่ที่อื่นได้อย่างน่ามหัศจรรย์ และสังเกตได้ว่าจะเป็นหินแร่คนละประเภทกัน
ขณะที่หินสมดุลแบบที่พบที่พระธาตุอินแขวนนั้น จะเป็นผลจากการเกิดการกัดเซาะ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากการกัดเซาะของน้ำ ลม หรือสารเคมีต่างๆ ลงไปบนชั้นหินที่ตำแหน่งนั้น และชื่อ "หินสมดุล" นี้ อาจจะทำให้เข้าใจผิด ว่าหินก้อนหนึ่งไปวางตัวอยู่บนหินอีกก้อนหนึ่ง อย่างสมดุล ไม่ร่วงหล่นลงมา ทั้งที่จริงๆ แล้ว กินทั้งสองยังเชื่อมต่อกันอย่างแน่นหนาที่ฐานของหิน"
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้ผู้ใช้งานและจะรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานระบบของผู้ใช้ การเรียกดูเว็บไซต์ของเราในหน้าต่างๆ กรุณายอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา
อ่านเพิ่มเติมยอมรับ