หน้าแรก > สังคม

ค่าฝุ่นเกินเกณฑ์ 62 จังหวัด ศูนย์ปฏิบัติการฯ สธ. ย้ำพื้นที่เปิดศูนย์ PHEOC ตามเกณฑ์ ติดตามสถานการณ์ฝุ่นและพายุฤดูร้อน

วันที่ 24 มีนาคม. 2568 เวลา 20:59 น.


ศูนย์ปฏิบัติการฯ กระทรวงสาธารณสุข เผย ค่าฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน 62 จังหวัด “แม่ฮ่องสอน ระยอง เชียงใหม่ แพร่ อุตรดิตถ์ ลำปาง พิษณุโลก น่าน ตาก” แดงต่อเนื่อง 3 วันขึ้นไป กำชับเปิดศูนย์ปฏิบัติการฯ ระดับจังหวัดตามเกณฑ์ ติดตามสถานการณ์ฝุ่นใกล้ชิด รวมทั้งพายุฤดูร้อน พร้อมขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาความพร้อมด้านสุขภาพของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับไฟป่าในพื้นที่ ยก “ลำปาง” ต้นแบบลดแหล่งกำเนิดและผลกระทบของ PM2.5

วันนี้ (24 มีนาคม 2568) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้ นพ.สฤษดิ์เดช เจริญไชย ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขฉุกเฉิน เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (PHEOC) กรณี หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก ครั้งที่ 13/2568 โดยวันนี้มีจังหวัดที่ค่าฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงเกินมาตรฐานรวม 62 จังหวัด แยกเป็น ระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (37.6-75 มคก./ลบ.ม.) 30 จังหวัด และระดับสีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพ (มากกว่า 75 มคก./ลบ.ม.ขึ้นไป) 32 จังหวัด โดยมี 9 จังหวัด ที่ค่าฝุ่นอยู่ในระดับสีแดงติดต่อกัน 3 วันขึ้นไป ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ระยอง เชียงใหม่ แพร่ อุตรดิตถ์ ลำปาง พิษณุโลก น่าน และตาก ซึ่งจากการคาดการณ์ 7 วันข้างหน้า พื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีค่าฝุ่นอยู่ในระดับปานกลางถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

นพ.สฤษดิ์เดช กล่าวต่อว่า ศูนย์ปฏิบัติการฯ จึงมีข้อสั่งการให้หน่วยงานในจังหวัดที่มีค่าฝุ่นในระดับสีแดงติดต่อกัน 3 วันขึ้นไป เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินฯ ตามเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อติดตามสถานการณ์ฝุ่นและดูแลช่วยเหลือประชาชนอย่างรวดเร็ว รวมถึงติดตามสถานการณ์พายุฤดูร้อนไปพร้อมกัน นอกจากนี้ ให้ขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเรื่องความพร้อมด้านสุขภาพของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานลาดตระเวน ป้องกัน และควบคุมไฟป่าในพื้นที่ หากมีโรคประจำตัวที่อาจทำให้เกิดความไม่ปลอดภัย ให้หลีกเลี่ยงการปฏิบัติงานเป็นระยะเวลานาน สำหรับหน่วยงานส่วนกลาง ให้มีการทบทวนข้อมูลการเจ็บป่วย 4 กลุ่มโรค เพื่อใช้ประโยชน์ในการติดตามและประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ รวมทั้งสื่อสารเกี่ยวกับกลไกการดำเนินงานของจังหวัดลำปางในการลดแหล่งกำเนิดและลดผลกระทบของ PM2.5 เพื่อเป็นต้นแบบให้พื้นที่อื่นนำไปปรับใช้ 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม


เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้ผู้ใช้งานและจะรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานระบบของผู้ใช้ การเรียกดูเว็บไซต์ของเราในหน้าต่างๆ กรุณายอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา

อ่านเพิ่มเติมยอมรับ