วันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 เวลา 21:08 น.
เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 กรุงเทพมหานครเตรียมประกาศใช้ข้อบัญญัติใหม่ เห็นชอบร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. … ว่าด้วยการควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ในพื้นที่ โดย นายนภาพล จีระกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางกอกน้อย ในฐานะประธานกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ ได้รายงานต่อที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร ซึ่งมีมติเห็นชอบให้ผ่านร่างข้อบัญญัติดังกล่าวเพื่อตอบสนองต่อปัญหาสัตว์เลี้ยง สัตว์จรจัด และสัตว์ดุร้ายที่อาจสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ชุมชนในกรุงเทพฯ และช่วยให้กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยมากขึ้นสำหรับประชาชน
การพิจารณาร่างข้อบัญญัตินี้ คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้จัดประชุมหลายครั้ง รวมถึงการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผ่านระบบออนไลน์ และจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมปศุสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์พื้นที่กรุงเทพฯ คณะสัตวแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และองค์กรช่วยเหลือสัตว์หลากหลายแห่ง เช่น มูลนิธิ The Voice (เสียงจากเรา) มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย (Soi Dog Foundation) และองค์กรสวัสดิภาพสัตว์ SOS Animal Thailand โดยร่างข้อบัญญัตินี้ได้ถูกปรับแก้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
หลักการสำคัญของร่างข้อบัญญัตินี้ คือ กำหนดขนาดพื้นที่ขั้นต่ำสำหรับการเลี้ยงสัตว์ในแต่ละประเภท เพื่อลดปัญหามลภาวะ เช่น กลิ่นไม่พึงประสงค์และเสียงรบกวน นอกจากนี้ยังระบุให้สุนัขและแมวทุกตัวต้องได้รับการฝังไมโครชิปเพื่อเป็นการบันทึกข้อมูลและระบุเจ้าของสัตว์เลี้ยงอย่างชัดเจน มาตรการนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อลดการทอดทิ้งสัตว์เลี้ยง ซึ่งอาจกลายเป็นปัญหาสัตว์จรจัดในอนาคต หากสัตว์เลี้ยงใดก่อให้เกิดปัญหาหรือรบกวนผู้อื่น เจ้าหน้าที่สามารถติดตามและตักเตือนหรือดำเนินการตามกฎหมายได้
ในส่วนของสัตว์ดุร้ายที่อาจเป็นภัยต่อสาธารณชน หน่วยงานกรุงเทพมหานคร จะดำเนินการย้ายสัตว์ไปยังศูนย์ควบคุมและพักพิงสุนัขกรุงเทพมหานครที่ตั้งอยู่ในเขตประเวศ และสำหรับการจัดการกับสัตว์จรจัด กรุงเทพมหานครยังมีหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการทำหมันสัตว์ในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อลดจำนวนสัตว์จรจัดในชุมชน
ด้าน นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตจอมทอง ได้ให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ปัญหาการเลี้ยงสัตว์ในบางพื้นที่ เช่น ร้านอาหารบางแห่งที่เลี้ยงสุนัขจำนวนมากและสร้างกลิ่นเหม็นรบกวนชุมชน ทำให้เพื่อนบ้านได้รับผลกระทบจนต้องร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งร่างข้อบัญญัติใหม่นี้มีแนวทางในการจัดการปัญหาดังกล่าวโดยตรง
หลังจากข้อบัญญัติฉบับนี้ประกาศใช้ ผู้เลี้ยงสัตว์จะต้องจดแจ้งจำนวนสัตว์เลี้ยง และกำหนดให้มีระยะเวลาผ่อนผัน 360 วัน เพื่อให้ผู้เลี้ยงสัตว์มีเวลาปรับตัว ก่อนเริ่มบังคับใช้บทลงโทษตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 หากมีการฝ่าฝืน ทั้งนี้ในกรณีของผู้ที่ต้องการเลี้ยงสัตว์เพื่อการผสมพันธุ์หรือประกอบธุรกิจ ก็สามารถยื่นขออนุญาตเพิ่มเติมได้ตามกฎหมาย
นายนภาพล จีระกุล กล่าวทิ้งท้ายว่า "เมื่อข้อบัญญัติฯ ฉบับนี้ประกาศใช้ จะช่วยแก้ไขปัญหาสัตว์เลี้ยง สัตว์จรจัด และสัตว์ดุร้ายในกรุงเทพมหานครอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เมืองมีความปลอดภัยมากขึ้นและมีสภาพแวดล้อมที่ดีสำหรับประชาชน"
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดย พ.ร.บ.การสาธารณสุข (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2560 ประกอบกับมาตรา 97 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 จึงจำเป็นต้องตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหามหานครนี้
สาระสำคัญของร่างข้อบัญญัตินี้ ประกอบด้วย การเลี้ยงสัตว์ ห้ามมิให้ผู้ใด เลี้ยงสุนัขและแมวในที่หรือทางสาธารณะหรือในที่ของบุคคลอื่นโดยปราศจากความยินยอม การปล่อยสัตว์ สถานที่เลี้ยงสัตว์ การควบคุมการเลี้ยงสุนัขและแมว โดยให้กทม.เป็นเขตห้ามเลี้ยงสุนัขและแมว เกินจำนวนที่กำหนด
พื้นที่อาคารชุดหรือห้องเช่า ตั้งแต่ 20-80 ตารางเมตรขึ้นไป เลี้ยงได้ไม่เกิน 1 ตัว หากเกิน เลี้ยงได้ไม่เกิน 2 ตัว
เนื้อที่ดิน ไม่เกิน 20 ตารางวา เลี้ยงได้ไม่เกิน 2 ตัว
เนื้อที่ดิน 20-50 ตารางวา เลี้ยงได้ไม่เกิน 3 ตัว
เนื้อที่ดิน 50-100 ตารางวา เลี้ยงได้ไม่เกิน 4 ตัว
เนื้อที่ดิน 100 ตารางวา ขึ้นไป เลี้ยงได้ไม่เกิน 6 ตัว
กำหนดสุนัขควบคุมพิเศษ ได้แก่ พิตบูลเทอเรีย, บูลเทอเรีย, สเตฟอร์ดเชอร์ บูลเทอเรีย, ร็อตไวเลอร์ และ ฟิล่า บราซิเลียโร รวมถึงสุนัขที่มีประวัติทำร้ายคนหรือพยายามทำร้ายคน เมื่อออกนอกสถานที่เลี้ยงต้องใส่อุปกรณ์ครอบปาก ใช้สายจูงที่มั่นคงแข็งแรง และจับสายจูงห่างจากคอสุนัขไม่เกิน 50 เซนติเมตรตลอดเวลา
เจ้าของต้องนำสัตว์เลี้ยงไปทำเครื่องหมายระบุตัวอย่างถาวรจากสัตว์แพทย์ โดยการฝังไมโครชิปตามมาตรฐานที่ กทม. กำหนด พร้อมนำใบรับรองไปแจ้งเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุขสำนักอนามัยหรือสำนักงาน ผู้ใดฝ่าฝืนข้อบัญญัติดังกล่าวจะมีโทษตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งร่างข้อบัญญัติดังกล่าวจะทำให้ กทม. แก้ไขปัญหาจรจัด และประชาชนมีความปลอดภัยจากสัตว์เลี้ยง
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจสุนัขและแมวในชุมชนพื้นที่กรุงเทพมหานครโดยอาสาสมัครสาธารณสุขของศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 67 แห่ง พบว่าในปี 67 มีสุนัขและแมว จำนวนทั้งสิ้น 198,688 ตัว
สุนัขที่มีเจ้าของ 53,991 ตัว จรจัด 8,945 ตัว รวม 62,936 ตัว
แมวที่มีเจ้าของ 115,821 ตัว จรจัด 19,925 ตัว รวม 135,752 ตัว
ทั้งนี้ ที่ประชุมสภา กทม. มีมติเห็นชอบร่างข้อบัญญัติดังกล่าวในวาระ 2 และวาระ 3 ทั้ง 35 คน จากนี้ ฝ่ายเลขานุการสภากทม.จะเสนอร่างดังกล่าวให้ผู้ว่าฯ กทม. ลงนามประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป โดยจะมีผลบังคับใช้วันถัดไปหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 360 วัน
ขอบคุณข้อมูลจาก : thaipbs
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้ผู้ใช้งานและจะรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานระบบของผู้ใช้ การเรียกดูเว็บไซต์ของเราในหน้าต่างๆ กรุณายอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา
อ่านเพิ่มเติมยอมรับ