หน้าแรก > สังคม

"อ.เจษฎา" เผย ไม่ต้องกังวล ยัน พายุแม่เหล็กโลก ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงกับคนบนโลก

วันที่ 10 ตุลาคม 2567 เวลา 15:35 น.


10 ตุลาคม 2567 รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ชื่อดัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า

"พายุแม่เหล็กโลก ไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรง กับคนบนโลกครับ ไม่ต้องกังวลอะไรมาก! (แถมได้ดูแสงออโรร่า แถวขั้วโลกด้วย) "

วันนี้มีการแชร์โพสต์ของ สมาคมดาราศาสตร์ไทย ที่ระบุว่า "ด่วน! องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐฯ (NOAA) ออกประกาศเฝ้าติดตามพายุแม่เหล็กโลกระดับร้ายแรง G4 คืนวันพรุ่งนี้ เผยมีโอกาส 25% ที่จะทวีความรุนแรงสู่ระดับสุดขั้ว G5 ขอบคุณภาพจาก NOAA/SWPC" พร้อมกับภาพของโลก ที่มีวงแหวนแสง สีแดงขอบเขียว เป็นวงกว้าง ครอบคลุมประเทศแถบขั้วโลกเหนือ

ทำเอาหลายต่อหลายคน แตกตื่นตกใจกับ ว่าจะมีอันตรายร้ายแรงอะไรเกิดขึ้นหรือไม่ จากเหตุพายุแม่เหล็กโลกระดับ G4 - G5 ที่จะเกิดขึ้น?

คำตอบคือ ไม่ต้องแตกตื่นขนาดนั้นครับ

จริงๆ มันคือการเกิดพายุสุริยะ (คือ อนุภาคจิ๋ว จำนวนมาก ที่พุ่งออกมาจากดวงอาทิตย์) เคลื่อนที่เข้ามากระทบกับสนามแม่เหล็กโลก ซึ่งปกป้องโลกของเราไว้และจะมีผลทำให้พวกดาวเทียม หรือยานอวกาศ และมนุษย์อวกาศที่อยู่นอกโลก ได้รับผลกระทบได้ (เพราะไม่ได้รับการป้องกันไว้ด้วยสนามแม่เหล็กโลก) แค่นั้นแต่ไม่ได้จะมีผลโดยตรงกับคนที่อยู่บนโลกครับ อาจะมีได้บ้างกับระบบสายส่งไฟฟ้า แต่ก็ในประเทศทางใกล้ขั้วโลก (ไม่ใช่แถวเส้นศูนย์สูตรแบบไทยเรา) แถมจะเกิดแสงเหนือแสงใต้ หรือแสงออโรร่า ให้ดูได้มากขึ้น ในประเทศแถวขั้วโลกเหล่านั้นด้วยครับ

ขอยกข้อมูลจากสมาคมดาราศาสตร์ไทย มาสรุปให้ฟังครับ

  • ดวงอาทิตย์ บางครั้ง อาจเกิดการปะทุใหญ่บนพื้นผิว พ่นพลังงานและอนุภาคออกมาเป็นปริมาณมาก (บางคนเรียกว่า ลมสุริยะ solar wind)
  • ถ้ามีลมสุริยะที่มีความรุนแรง (เรียกว่า พายุสุริยะ solar storm) เข้ามาปะทะเข้ากับสนามแม่เหล็กของโลก ก็จะทำให้เกิดความปั่นป่วนขึ้นในอวกาศเหนือชั้นบรรยากาศโลกไป (บางคนเรียก พายุสนามแม่เหล็กโลก)
  • อาจส่งผลกระทบต่อดาวเทียม การส่งกำลังไฟฟ้า หรือ การสื่อสารวิทยุ แค่นั้น
  • ผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตมนุษย์ มีไม่มากนัก (คืออาจได้รับผลทางอ้อม เช่น มาจากดาวเทียมที่ขัดข้อง หรือระบบไฟฟ้าขัดข้องในประเทศแถบขั้วโลก)
  • องค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือ โนอา (NOAA--National Oceanic and Atmospheric Administration) ได้กำหนดมาตราแสดงระดับความรุนแรงของปรากฏการณ์ทางภูมิอากาศนอกโลกที่จะมีผลต่อโลกไว้ ตัวอย่างเช่น

"ระดับ G5" : รุนแรงที่สุด

  • ระบบควบคุมแรงดันไฟฟ้าและระบบป้องกัน เสียหายทั่ว
  • ระบบสายส่งไฟฟ้า อาจล่มหรือดับถาวร
  • หม้อแปลงไฟฟ้า อาจเสียหาย
  • ยานอวกาศ มีปัญหาจากประจุเข้มข้นที่สะสมที่ผิวยาน มีปัญหาด้านการสื่อสารและการควบคุมทิศ
  • กระแสไฟฟ้าในท่อส่งน้ำ อาจสูงหลายร้อยแอมแปร์
  • การกระจายสัญญาณความถี่สูง ล้มเหลว
  • เกิดแสงเหนือแสงใต้ ลามไปถึงระดับละติจูดแม่เหล็ก 40 องศา

"ระดับ G4" : รุนแรงมาก

  • ระบบควบคุมแรงดันไฟฟ้า อาจเกิดความเสียหายเป็นพื้นที่กว้าง
  • ยานอวกาศ อาจเกิดการสะสมประจุขึ้นที่พื้นผิว และอาจมีปัญหาในการสื่อสารและควบคุมทิศ
  • เกิดกระแสไฟฟ้าขึ้นในท่อส่งน้ำ
  • เกิดแสงเหนือแสงใต้ ลามไปถึงละติจูดแม่เหล็ก 45 องศา
  • การกระจายสัญญาณความถี่สูง ขัดข้องเป็นระยะ

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม


เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้ผู้ใช้งานและจะรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานระบบของผู้ใช้ การเรียกดูเว็บไซต์ของเราในหน้าต่างๆ กรุณายอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา

อ่านเพิ่มเติมยอมรับ