หน้าแรก > สังคม

4 กระทรวง เดินหน้าผลิต “9 หมอ” 62,000 คนใน 10 ปี ดูแลสุขภาพ ปชช. ในท้องถิ่นทั่วประเทศ

วันที่ 17 กันยายน 2567 เวลา 02:23 น.


ประธานองคมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และกระทรวงศึกษาธิการ ในการผลิตแพทย์และทีมนวัตกรรมสุขภาพเพื่อเวชศาสตร์ครอบครัว หรือ ”9 หมอ“ รวม 62,000 คน ภายใน 10 ปี รองรับระบบสุขภาพปฐมภูมิ ดูแลสุขภาพประชาชนในท้องถิ่นทั่วประเทศ เริ่มปีการศึกษา 2568 เป็นต้นไป

(16 กันยายน 2567) ที่ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ สุวรรณภูมิ แอร์พอร์ต จ.สมุทรปราการ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการผลิตแพทย์และทีมนวัตกรรมสุขภาพเพื่อเวชศาสตร์ครอบครัวตอบสนองต่อระบบสุขภาพปฐมภูมิทั่วไทย (9 หมอ แผน 10 ปี ครอบคลุมปีการศึกษา 2568-2577) ระหว่าง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา ศ.พิเศษ ดร.นพ.วิชัย เทียนถาวร อธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก พญ.พิมพ์เพชร สุขุมาลไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในพิธี

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการผลิตและพัฒนากำลังคนในระบบสาธารณสุขที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาระบบบริการสุขภาพของประเทศ และตอบสนองความต้องการบริการสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ โดยโครงการผลิตแพทย์และทีมนวัตกรรมสุขภาพฯ มุ่งเน้นการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ ซึ่งเป็นระบบบริการสุขภาพด่านแรกที่ดูแลสุขภาพประชาชนในท้องถิ่น เพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึง ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนร่วมผลักดันการดำเนินงานให้ประสบผลสำเร็จ สามารถขับเคลื่อนการดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชนได้ทั่วประเทศ โดยวางแผนผลิตบุคลากร 9 สาขาวิชาชีพ เป็นระยะเวลา 10 ปี (ปีการศึกษา 2568-2577) ภายใต้วงเงินงบประมาณ 37,234.48 ล้านบาท รวม 62,000 คน ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยสาธารณสุข ปีละ 1,000 คนต่อวิชาชีพ นักวิชาการสาธารณสุข สาขาวิชาสาธารณสุขชุมชนและสาขาวิชาทันตสาธารณสุข ปีละ 500 คนต่อสาขา และทันตแพทย์ (ชุมชน) เภสัชกร (ชุมชน) ฉุกเฉินการแพทย์ และแพทย์แผนไทย ปีละ 300 คนต่อวิชาชีพ

ด้าน ศ.พิเศษ ดร.นพ.วิชัย กล่าวว่า การลงนาม MOU ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนการผลิตแพทย์และทีมนวัตกรรมสุขภาพเพื่อเวชศาสตร์ครอบครัวตอบสนองต่อระบบสุขภาพปฐมภูมิทั่่วไทย (9 หมอ) เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 91 พรรษา และสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านวิชาการในการพัฒนาหลักสูตรและเพิ่่มศักยภาพการผลิตบัณฑิตหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรด้านการพยาบาลและสาธารณสุข รวมถึงร่วมพัฒนาการจัดการเรียน การสอน ให้กับอาจารย์และบัณฑิต ให้ได้ฝึกประสบการณ์ทั้งภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ ตลอดจนให้บริการทางวิชาการแก่สังคมเน้นความร่วมมือกับชุมชนในพื้นที่ โดยกระทรวงสาธารณสุขจะร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กำหนดหลักเกณฑ์ แนวทาง และเขตพื้นที่ในการรับสมัครนักศึกษา, วางแผนการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และร่วมกับกระทรวงมหาดไทย วางแผนการปฏิบัติงานในสถานบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งมีการกำหนดแนวทางให้ทุนการศึกษาและการทำสัญญาชดใช้ทุน เพื่่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล และสาธารณสุข

 

 

 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม