หน้าแรก > สังคม > สุขภาพ

"30บาท รักษาทุกที่ กทม.” เริ่มให้บริการแล้ว แนะ สังเกตโลโก้ 30 บาทรักษาทุกที่

วันที่ 29 สิงหาคม 2567 เวลา 12:46 น.


นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้บริการ 30 บาทรักษาทุกที่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้เริ่มดำเนินการแล้ว ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2567 โดยยึดหลักการ 30 บาทรักษาทุกที่ สุขภาพดีเริ่มที่ใกล้บ้าน ซึ่งเป็นหลักการสนับสนุนระบบบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ เพื่อดูแลสุขภาพของประชาชน

โดยหมายความว่า ในการเข้ารับบริการนั้น จะต้องเริ่มจากเข้ารักษาในระดับปฐมภูมิก่อน นอกจากไปรับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำตัวแล้ว ยังไปรักษาที่หน่วยบริการทางเลือกใหม่ที่เพิ่มความสะดวกได้ ทั้งที่ร้านยาคุณภาพและคลินิกเอกชนเข้าร่วม โดยใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียว ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ซึ่งสังเกตจากตราสัญลักษณ์ หรือ โลโก้ 30 บาทรักษาทุกที่ ที่จะติดอยู่ที่หน่วยบริการ และหากเกินศักยภาพการดูแล จะถูกส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลในเครือข่ายต่อไป

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า 30 บาทรักษาทุกที่ ได้เพิ่มทางเลือกใหม่ให้กับประชาชนสามารถเข้ารับบริการได้ที่ร้านยาคุณภาพ และคลินิกเอกชนที่เข้าร่วมกับ สปสช. ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถใช้บริการทางการแพทย์ตามความจำเป็นได้ตามเวลาที่สะดวกมากขึ้น โดยในส่วนของจังหวัดนำร่อง 30 บาทรักษาทุกที่ 45 จังหวัดที่ผ่านมานั้น มีบริการทางเลือกใหม่นี้ 7 ประเภท แต่ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นจังหวัดนำร่องที่ 46 จะมีเพิ่มอีก 10 ประเภท รวมเป็น 17 บริการนวัตกรรม โดยจะเป็นบริการเชิงรุกเพื่ออำนวยความสะดวกและสนับสนุนให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่มีความซับซ้อนของระบบบริการสุขภาพ ได้เข้าถึงบริการมากขึ้น ก่อนจะขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ ต่อไป

ด้าน รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า วันนี้อยากให้ประชาชนเชื่อมั่นในระบบปฐมภูมิของ กทม. ซึ่งนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่” ตามที่กระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. เป็นเจ้าภาพร่วมกัน เพื่อขยายบริการดูแลสุขภาพในพื้นที่ โดยในส่วนบริการปฐมภูมิของ กทม. ไม่เพียงแต่ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่งเท่านั้น แต่เรายังมีสาขาของศูนย์บริการสาธารณสุขอีก 77 แห่ง ที่เป็นที่พึ่งให้กับประชาชนได้ มีพยาบาล และเจ้าหน้าสาธารณสุขประจำอยู่ เปรียบเหมือนหมอน้อยๆ ใกล้บ้านคนดูแลให้พี่น้องประชาชนได้

รวมถึงผู้ที่มาจากภูมิเลานำอื่นและเข้ามาทำงานใน กทม. ก็สามารถใช้บริการได้เช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีประชาชนจากปริมณฑลที่เข้ามาทำงานในแต่ละวัน ทำให้อาจมีประชาชน 10 ล้านคนที่เข้ามารับบริการสุขภาพใน กทม. นี้ นอกจากนี้ ยังมี 7 หน่วยบริการนวัตกรรมที่เชื่อมโยงบริการ หรือที่เรียกว่า 7 นางฟ้า รวมถึงบริการนวัตกรรมอีก 10 ประเภทที่เป็นบริการเชิงรุก ก็สามารถเข้ารับบริการได้เช่นกัน ทำให้ไม่ต้องไปแออัดที่โรงพยาบาล

รศ.ดร.ทวิดา กล่าวต่อว่า สำหรับในส่วนของการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพนั้น กทม. มีอีกโครงการที่กำลังทดลองอยู่ในโซนที่ 3 ในการทำระบบการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพประชาชนของหน่วยบริการในพื้นที่ ทั้ง รพ.เจริญกรุงประชารักษ์สังกัด กทม. โรงพยาบาลเลิดสินสังกัดกรมการแพทย์ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ที่เป็นโรงเรียนแพทย์

รวมถึงระดับปฐมภูมิ ทั้งศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกชุมชนอบอุ่น และร้านยาคุณภาพที่เป็นสมาชิก ซึ่งวันนี้ทั้งหมดได้เชื่อมโยงระบบข้อมูลครบหมดแล้ว ดังนั้นจึงอยากเชิญชวนให้หน่วยนวัตกรรม 7 นางฟ้า ให้เข้ามาร่วมในระบบเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะได้มีข้อมูลในการให้บริการที่ครบถ้วน

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่นั้น อยู่บนหลักการ “30 บาทรักษาทุกที่ สุขภาพดีเริ่มที่ใกล้บ้าน” สนับสนุน “ระบบบริการสุขภาพเริ่มต้นที่ปฐมภูมิ” สปสช.จึงได้เพิ่มบริการสุขภาพในระดับปฐมภูมิให้มากขึ้น ที่เรียกกันว่าหน่วยบริการนวัตกรรม โดยในกรุงเทพฯ คือ ศูนย์บริการสาธารณสุขสังกัดกรุงเทพมหานคร 69 แห่ง และศูนย์ฯ สาขา 77 รวมถึงคลินิกชุมชนอบอุ่นอีกประมาณ 280 แห่ง สำหรับหน่วยบริการทางเลือกใหม่ในกรุงเทพมหานคร

ในส่วนของหน่วยบริการนวัตกรรม 7 แห่งที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. แล้ว มีดังนี้ 1.คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น จำนวน 167 แห่ง 2.คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น จำนวน 173 แห่ง 3.ร้านยาคุณภาพ จำนวน 901 แห่ง 4.คลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น จำนวน 23 แห่ง 5.คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น จำนวน 13 แห่ง 6.คลินิกแพทย์แผนไทย จำนวน 25 แห่ง และ 7.คลินิกเทคนิคการแพทย์ จำนวน 29 แห่งแล้ว

นอกจากนี้ ยังได้ขยายบริการนวัตกรรมสุขภาพเพิ่มอีก 10 บริการเชิงรุก ดังนี้ บริการการแพทย์ทางไกลกับ 4 แอพพลิเคชั่นสุขภาพ พร้อมจัดส่งยาถึงบ้าน บริการเจาะเลือดที่บ้านผู้ป่วย ให้กับผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง รถทันตกรรมเคลื่อนที่ จำนวน 6 คัน ดูแลสุขภาพช่องปากกลุ่มเปราะบาง รถคลินิกเวชกรรมเคลื่อนที่ในชุมชน เพิ่มการเข้าถึงการรักษาโรคเบื้องต้น บริการการระบบการแพทย์ทางไกล ผ่านแอปสุขภาพ ที่ห้องพยาบาลโรงเรียนมัธยม จำนวน 78 แห่ง บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเชิงรุก ที่ห้างสรรพสินค้า และสถานประกอบการต่างๆ ฯลฯ จำนวน 59 แห่ง สถานีสุภาพ “Health station” รับบริการผ่าน “ตู้เทเลเมดิซีน” ติดตั้งที่ชุมชนและห้างสรรพสินค้า จำนวน 22 แห่ง บริการสุขภาพที่ “สถานีบริการน้ำมัน” และ “สถานีรถไฟฟ้า” โดยคลินิกพยาบาล พร้อมบริการการแพทย์ทางไกล และ ขยายคลินิกบริการฟอกไต 154 แห่ง พร้อมให้บริการเครื่องล้างไตอัตโนมัติ

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม


เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้ผู้ใช้งานและจะรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานระบบของผู้ใช้ การเรียกดูเว็บไซต์ของเราในหน้าต่างๆ กรุณายอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา

อ่านเพิ่มเติมยอมรับ