หน้าแรก > สังคม

โครงการอัญเชิญพระไตรปิฎก ‘สู่ระบบเมฆาดิจิทัล’ (Cloud System) เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ครบ 6 รอบ 72 พรรษา

วันที่ 18 กรกฎาคม 2024 เวลา 02:56 น.


โครงการอัญเชิญพระไตรปิฎก ‘สู่ระบบเมฆาดิจิทัล’ (Cloud System) เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ครบ 6 รอบ 72 พรรษา

วันพุธ ที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๗ เวลา ๐๙.๐๐ น. วัดสุทธิวราราม ร่วมกับ บัณฑิตวิทยาลัย สถาบันพระไตรปิฎก มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และ สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันจัดสัมมนาวิชาการการบริการด้ามคัมภีร์ “โครงการอัญเชิญพระไตรปิฎกสู่ระบบเมฆาดิจิทัล (Cloud System)” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๗๒ พรรษา

โดยมี พระเดชพระคุณพระเทพปวรเมธี,รศ.ดร. รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมตตาเป็นองค์ประธานและกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “พัฒนาการพระไตรปิฎกและคัมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนา” พระเดชพระคุณพระสุธีรัตนบัณฑิต,รศ.ดร. เจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าวถวายรายงาน และร่วมวงสัมมนาวิชาการเรื่อง “การพัฒนาฐานข้อมูลพุทธธรรม : จากคัมภีร์สู่ระบบเมฆาดิจิทัล” ร่วมกับ พระบูชา ธมฺมปูชโก,ดร. และ รองศาสตราจารย์ ดร.วุฒินันท์ กันทะเตียน จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ณ ศูนย์การเรียนรู้พระพุทธศาสนาและการพัฒนาสังคม วัดสุทธิวราราม เขตสาทร กรุงเทพมหานคร
ข้อมูลข่าวตามนี้ ครับ

เมื่อวันที่ 17 ก.ค.67 ที่วัดสุทธิวราราม พระเทพปวรเมธี รองเจ้าคณะภาค 15 รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) เป็นประธานพิธีเปิดการสัมมนาการบริการด้านคัมภีร์ โครงการอัญเชิญพระไตรปิฎกสู่ระบบเมฆาดิจิทัล (Cloud System) โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา จัดโดยบัณฑิตวิทยาลัย สถาบันพระไตรปิฎก มจร และสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พระเทพปวรเมธี กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่น่าสนใจ และทันสมัย เพื่อนำไปสู่การใช้ Artificial Intelligence (AI) หรือ ระบบปัญญาประดิษฐ์ มาใช้ในเรื่องของพระไตรปิฎก ซึ่งถือว่าเป็นคัมภีร์ที่สำคัญของพระพุทธศาสนา และขอให้มีการขยายผลไปสู่คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาต่างๆด้วย เชื่อว่าหากดำเนินการในส่วนของพระไตรปิฎกสำเร็จ คัมภีร์อื่นๆจะไม่ใช่เรื่องยาก นอกจากนี้อยากให้มีการเสนอโครงการนี้ให้ทางคณะสงฆ์โดยมหาเถรสมาคม (มส.) รับทราบด้วย เพื่อให้เดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง

พระสุธีรัตนบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มจร กล่าวว่า บัณฑิตวิทยาลัย มจร สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ และเครือข่ายกองบุญเพื่อพระธัมมวินัย วัดป่าแก้ว จ.จันทบุรี ได้ร่วมกันพัฒนาฐานข้อมูลพระไตรปิฎกและคัมภีร์ธรรมหรือเอกสารสำคัญทางพระพุทธศาสนา โดยมีพระไตรปิฎกเป็นแกนกลาง พร้อมด้วยฐานข้อมูลเกี่ยวกับองค์ความรู้ร่วมสมัยที่อ้างอิงถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า รวมทั้งคำสอนของพระมหาเถระ ครูบาอาจารย์ที่เชื่อมโยงสู่แกนกลางพระไตรปิฎก โดยพัฒนาบนแนวความคิดของ Open platform เพื่อให้พุทธศาสนิกชนทั้งในสังคมไทยและนานาชาติช่วยกันต่อยอดจากฐานข้อมูลเพื่อนำไปใช้ในการอ้างอิง และเชื่อมโยงองค์ความรู้สมัยใหม่สู่หลักพุทธธรรมในพระไตรปิฎก และเพื่อทำให้ฐานข้อมูลพระธรรมคำสอน และหลักปฏิบัติของพระมหาเถระให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น รวมทั้งจะเป็น Data Set ที่สำคัญในการตอบคำถามและสร้างฐานความรู้ผ่าน AI ที่จะเป็นเครื่องมือถามตอบและแนะนำผู้คนเพื่อสามารถเข้าถึงหลักพุทธธรรมทั้งในแง่องค์ความรู้และภาคปฏิบัติ ให้เข้าใจได้โดยเร็ว

พระสุธีรัตนบัณฑิต กล่าวต่อไปว่า สำหรับโครงการอัญเชิญพระไตรปิฎกสู่ระบบดิจิทัลเมฆา (Cloud System) จะเป็นการนำเทคโนโลยีมาสร้างฐานข้อมูลแห่งพระไตรปิฎกและการเผยแผ่หลักพุทธธรรม โดยมีการอัญเชิญบรรจุพระไตรปิฎกสู่ฐานข้อมูลดิจิทัลเมฆา (Cloud System) พร้อมทั้งให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจทานและสะกดคําภาษาบาลีทุกคำในพระไตรปิฎกฉบับสำคัญของสังคมไทย คือ พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ และพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งมีจำนวน 5,400,000 คำ ผ่านแอพพลิเคชั่นสะกดคำ ภาษาบาลีในโทรศัพท์มือถือ ซึ่งผู้ที่แม้ไม่มีความรู้บาลีก็สามารถร่วมสะกดคำได้ โดยคำภาษาบาลีใน พระไตรปิฎกทั้ง 2 ฉบับ ที่ประชาชนร่วมกันอัญเชิญสู่ฐานข้อมูลดิจิทัลนี้ จะเป็นโครงสร้างข้อมูลพื้นฐานสำคัญ เพื่อเชื่อมโยงพระไตรปิฎกทุกฉบับในโลกและ เชื่อมโยงฐานข้อมูลคำสอนของครูบาอาจารย์ที่สำคัญทั่วโลก

พระบูชา ธมฺมปูชโก เครือข่ายธัมมเจดีย์ วัดป่าแก้ว จ.จันทบุรี กล่าวว่า คาดว่าภายใน 3 เดือน จะสามารถเปิดให้พุทธศาสนิชนเข้ามาร่วมการตรวจทานและสะกดคําภาษาบาลีทุกคำในพระไตรปิฎกได้ จึงอยากเชิญชวนพุทธศาสนิกชนมาเข้าร่วมโครงการ เป็นการร่วมทำบุญโดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพียงแค่ร่วมตรวจทานและสะกดคําภาษาบาลี เพื่อบรรจุสู่ฐานข้อมูลดิจิทัลเมฆา ซึ่งโครงการนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการจัดทำ Data Set หลักธรรม คำสอนทางพระพุทธศาสนา เพื่อให้ต่อไปในอนาคต AI ได้ใช้ฐานข้อมูลดังกล่าว ตอบคำถามได้อย่างถูกต้องด้วย

จากมุขปาฐะ สู่การจารในคัมภีร์ใบลาน 
สู่ฉบับคอมพิวเตอร์ และสู่เมฆาดิจิทัล 
(Cloud System)
เครดิต Suthito Aphakaro
 

 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม