หน้าแรก > สังคม

ศูนย์ต่อต้านทุจริต กทม. เร่งสอบซื้อเครื่องออกกำลังกายแพง ที่ผ่านมา 2 ปี ไล่ออกแล้ว 29 คน

วันที่ 5 กรกฎาคม 2024 เวลา 00:21


ศูนย์ต่อต้านทุจริต กทม. เร่งสอบซื้อเครื่องออกกำลังกายแพง ย้ำต้องรอบคอบ ไม่ปล่อยช่องโหว่คนผิดลอยนวล ที่ผ่านมา 2 ปี ไล่ออกแล้ว 29 คน

“การตรวจสอบเรื่องทุจริต ทุกคนอยากให้เร็ว แต่สุดท้ายต้องรอบคอบ วันนี้ได้เน้นย้ำหัวหน้าหน่วยงานทั้งหมดว่าความโปร่งใสเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เราจะไม่อดทนต่อการทุจริต อย่าเกรงใจ อย่าให้ใครมาบังคับให้ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หากมีใครแอบอ้างหรือบังคับให้แจ้งได้ทันที”

(4 ก.ค. 67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงความคืบหน้าการตรวจสอบเรื่องการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย โดยมี นางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร และนางสาวเต็มสิริ เนตรทัศน์ ผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (สำนักงาน ก.ก.) ร่วมแถลง

ศตท.กทม. เร่งกระบวนการตรวจสอบหลังรับเรื่องร้องเรียน

สำหรับการตรวจสอบเรื่องการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายสำหรับศูนย์กีฬาของกรุงเทพมหานคร หลังจากศูนย์ปฏิบัติการติดตามการต่อต้านทุจริตของกรุงเทพมหานคร (ศตท.กทม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 67 นั้น ในวันที่ 6 มิ.ย. ผู้ว่าฯ กทม. ได้สั่งการในทันทีให้ชะลอการส่งมอบเครื่องออกกำลังกายที่อยู่ระหว่างการจัดซื้อและยังไม่ได้ส่งมอบ และให้คณะกรรมการเร่งรัดตรวจสอบโครงการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายทั้ง 7 โครงการ รวมทั้งโครงการอื่น ๆ หากมีรายการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายเกี่ยวข้องด้วย

วันที่ 7 มิ.ย. ปลัด กทม. มีคำสั่งมอบหมายให้ นายณัฐพงศ์ ดิษยบุตร รองปลัด กทม. ในฐานะผู้อำนวยการ ศตท.กทม. เป็นผู้รับผิดชอบสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว เพื่อความรวดเร็วและโปร่งใสในการตรวจสอบ

วันที่ 11 มิ.ย. ผู้อำนวยการ ศตท.กทม. รายงานผลการตรวจสอบเบื้องต้นต่อปลัด กทม. และสำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ถึงเหตุอันน่าเชื่อว่าจะมีมูลการกระทำความผิด ซึ่งในกระบวนการทั้งหมดนี้ ศตท.กทม. ได้เอาจริง เร่งรัด และรอบคอบในการดำเนินงานโดยใช้เวลาไม่เกิน 7 วัน

ขณะเดียวกัน ปลัด กทม. ได้สั่งการให้สำนักงานตรวจสอบภายใน (สตน.) สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร ตรวจสอบราคากลางเทียบกับราคาท้องตลาดของเครื่องออกกำลังกาย ซึ่งเบื้องต้นพบว่ามีราคาที่สูงกว่าท้องตลาดมาก สตน. จึงได้เสนอให้มีคณะกรรมการกำหนดราคากลางสำหรับครุภัณฑ์ที่ไม่มีราคากลางมาก่อน เพื่อเป็นแนวทางในการควบคุมให้การกำหนดราคาเป็นไปตามมาตรฐานในอนาคตต่อไป อีกส่วนหนึ่งคือเครื่องออกกำลังกายมีสเป็กสูงเกินความจำเป็น เช่น บริเวณที่เครื่องออกกำลังกายติดตั้งอยู่นั้นไม่มีสัญญาณไวไฟที่จะต่อเชื่อมกับเครื่องออกกำลังกายได้

วันที่ 17 มิ.ย. หลังทราบรายงานผลเบื้องต้น ผู้ว่าฯ กทม. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงทันที และประธานคณะกรรมการฯ ได้รับทราบคำสั่งเมื่อ 20 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยต้องรายงานผลความคืบหน้าต่อผู้ว่าฯ กทม. ทุก ๆ 7 วัน ซึ่งเป็นการสืบสวนจากเอกสารหลักฐาน บุคคล และพยานที่เกี่ยวข้อง และต้องสรุปผลการสืบสวนข้อเท็จจริงอย่างเป็นทางการภายใน 30 วันหลังรับทราบคำสั่ง

โดยผลการพิจารณาของคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงมีความเป็นไปได้ 3 ทาง คือ ทางแรก กรณีพบว่ามีมูลทุจริต จะแต่งตั้งคณะกรรมการวินัยร้ายแรง และให้เวลาพิจารณาดำเนินการทางวินัยภายใน 120 วัน ซึ่งขั้นตอนนี้ต้องใช้ระยะเวลาเนื่องจากต้องมีความละเอียดและรอบคอบ เป็นไปตามกฎ ก.ก. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2565 ทางที่สอง กรณีมีมูลผิดวินัยไม่ร้ายแรง จะแต่งตั้งคณะกรรมการวินัยไม่ร้ายแรง และทางที่สาม กรณีพิจารณาไม่มีมูล จะเสนอผู้บังคับบัญชาให้ยุติเรื่องดังกล่าว

จะเห็นได้ว่าการดำเนินการตรวจสอบเรื่องทุจริตกรณีการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายมีกระบวนการที่ใช้เวลามากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับกรณีที่มีการจับกุมผู้กระทำผิดโดยกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) เช่น กรณีครูทุจริตค่าอาหารกลางวัน หรือกรณีการจับกุมนายช่างโยธาเรียกรับสินบนเพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินโครงการก่อสร้าง เนื่องจากกรณีที่มีการจับกุมดังกล่าว กทม. สามารถแต่งตั้งคณะกรรมการวินัยร้ายแรงได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการสืบสวนข้อเท็จจริง เพราะเป็นไปตามหมายจับหรือความผิดซึ่งหน้า

ผลการดำเนินงาน ศตท.กทม.

สำหรับศูนย์ปฏิบัติการติดตามการต่อต้านทุจริตของกรุงเทพมหานคร (ศตท.กทม.) มีผลการดำเนินงานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ดังนี้ มีคำสั่งไล่ออก/ปลดออกข้าราชการ จำนวน 29 ราย แบ่งเป็นกรณีเข้าข่ายทุจริตและประพฤติมิชอบ 12 ราย ได้แก่ ทุจริตเรียกรับสินบน 6 ราย ทุจริตไม่นำส่งเงิน 3 ราย และทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง 3 ราย ส่วนอีก 17 ราย เป็นกรณีผิดวินัยอย่างร้ายแรงอื่น เช่น ขาดงานเกิด 15 วัน ละเมิดทางเพศผู้เรียน ลอกเลียนผลงาน ยาเสพติด ปลอมเอกสาร หลอกลวงนำเงินไปลงทุน

ปัจจุบันมีเรื่องทุจริตที่อยู่ระหว่างการสอบสวนทางวินัย 6 เรื่อง แบ่งเป็น กรณีเรียกสินบน 5 เรื่อง และการจัดซื้อจัดจ้าง 1 เรื่อง ซึ่งเคสสำคัญ เช่น เคสเจ้าหน้าที่ฝ่ายรายได้ เรียกรับสินบนจากโรงแรมในพื้นที่ กทม. อยู่ระหว่างสอบสวนทางวินัย และดำเนินคดีอาญา เคสเจ้าหน้าที่ ฝ่ายโยธา เรียกรับสินบนเพื่อออกใบอนุญาตก่อสร้าง อยู่ระหว่างพิจารณาความผิดและกำหนดโทษ และดำเนินคดีอาญา ส่วนเคสเจ้าหน้าที่สำนักการโยธา เรียกรับสินบนเพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินโครงการก่อสร้าง อยู่ระหว่างสอบสวนทางวินัย และดำเนินคดีอาญา

ทั้งนี้ หากพบเห็นข้าราชการทุจริตประพฤติมิชอบ สามารถแจ้งได้ที่ช่องทางดังนี้

1. Traffy Fondue

2. ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ 1555

3. เว็บไซต์  https://webportal.bangkok.go.th/rongtook 

4. ทางไปรษณีย์ ทางโทรศัพท์ และร้องเรียนด้วยตนเองที่ ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกรุงเทพมหานคร (ศปท.กทม.) โทร. 0 2224 2963 หรืออีเมล anticorrupt.bma@gmail.com  

 

 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม