หน้าแรก > สังคม

กระทรวงมหาดไทย ผนึกกำลังภาคีเครือข่าย ประกาศความสำเร็จในพิธีซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการ "ถังขยะเปียก ลดโลกร้อน"

วันที่ 24 มิถุนายน 2024 เวลา 15:40 น.


กระทรวงมหาดไทย ผนึกกำลังภาคีเครือข่าย ประกาศความสำเร็จในพิธีซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยกับภาคีเครือข่าย

วันนี้ (24 มิ.ย.67) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผู้บริหารองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ผู้บริหารหน่วยงานสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ชลบุรี ราชบุรี ศรีสะเกษ อุบลราชธานี สมุทรสงคราม เชียงราย และสระบุรี และผู้บริหารหน่วยงานที่สนับสนุนคาร์บอนเครดิต 12 หน่วยงาน จากบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)/ สมาคมอุตสาหกรรมปูนชีเมนต์ไทย/บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)/บริษัท ฮีดากา โยโก เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด/บริษัท อีเวนท์ แทรเวล เอเชีย จำกัด/ บริษัท โอ๊คลิน (ประเทศไทย) จำกัด/บริษัท ไทยแมนอินดัสตรีส์ จำกัด/บริษัท เวคิน (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท บีแอลชีพี เพาเวอร์ จำกัด/บริษัท ชีดากา ชูชูโทกุ (ประเทศไทย) จำกัด/ บริษัท เฮลทีเอิร์ธ จำกัด และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เข้าร่วมพิธีซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อน ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยกับภาคีเครือข่าย ประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2567 นับเป็นการประกาศความสำเร็จในการจัดการขยะต้นทางด้วยการทำ "ถังขยะเปียก ลดโลกร้อน" ผ่านการบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ประชาชน เอกชน จนนำไปสู่การรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้จากการดำเนินโครงการ จนนำมาสู่การซื้อขาย - คาร์บอนเครดิตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า โครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อนถือเป็น Masterpiece of Success ของกระทรวงมหาดไทย โดยในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 28 หรือ COP 28 ณ นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยได้นำโมเดลความสำเร็จการคัดแยกขยะต้นทางของกระทรวงมหาดไทยเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปเผยแพร่สู่สายตาชาวโลกในการประชุม COP 28 อีกทั้งยังเป็นการประกาศความสำเร็จผลการดำเนินงานของกระทรวงมหาดไทยที่ได้ขับเคลื่อนการพัฒนาระดับพื้นที่ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals ตามที่ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดได้ร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์พื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน กับองค์การสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย ด้วยแนวคิด "76 จังหวัด 76  คำมั่นสัญญาเพื่อการพัฒนา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืนโลกนี้เพื่อเรา" โดยที่กระทรวงมหาดไทย ให้ความสำคัญกับบทบาทของผู้นำในระดับพื้นที่ ผ่านแนวคิด"ผู้นำทำก่อน" เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนนโยบายรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ในระดับพื้นที่

ความสำเร็จของ "โครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อน" ไม่ได้เกิดขึ้นในวันเดียว แต่เส้นทางความสำเร็จของโครงการ ถือว่าเป็นความสำเร็จของโมเดลการคัดแยกขยะต้นทางของกระทรวงมหาดไทยได้ถูกขับเคลื่อนต่อยอด ขยายผลผ่านกลไกระดับจังหวัด อำเภอ ท้องถิ่น ชุมชน ตลอดจนอาสาสมัครภาคประชาชน หรืออาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก ที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันส่งเสริมให้ประชาชนทำถังขยะเปียก ลดโลกร้อนให้ประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน เพื่อรักษาโลกใบเดียวของเรา

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า สมาคมแม่บ้านมหาดไทยให้ความสำคัญต่อการเร่งแก้ไขผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ นับเป็นเวลากว่า 2 ปี ที่สมาคมแม่บ้านมหาดไทยได้ร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านโครงการสำคัญ (Flagship) ของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งการทำถังขยะเปียก ลดโลกร้อนสามารถตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้หลายประการ เช่น การคัดแยกขยะอาหารช่วยลดการปล่อย ก๊าซเรือนกระจก (SDGs ข้อที่ 13) ซึ่งผลพลอยได้ (Byproduct) จากการดำเนินโครงการ ทำให้ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์จากสารบำรุงดินในการเพาะปลูกผักสวนครัวในครัวเรือน เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) (SDG ข้อที่ 2) ซึ่งการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อนขององค์ กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับประโยชน์ และถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนได้รับประโยชน์ร่วมกัน กระตุ้นให้ประชาชนรักษาสิ่งแวดล้อม ให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อน ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประเทศไทย เป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจที่มีขอบเขตครอบคลุมทุกครัวเรือนทั่วประเทศไทยกว่า 14 ล้านครัวเรือน และมี โรงเรียนในสังกัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 1,701แห่ง และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 18,935 แห่ง เข้าร่วมโครงการฯ ด้วย โครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อนได้รับการรับรองระเบียบวิธีการวิจัย(Methodolog)- ระเบียบวิธีการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจสำหรับการผลิตปุ๋ยจากขยะอินทรีย์(T-VER-METH-WM 03 version 06) เป็นที่แรกในประเทศไทย โดยมีระยะเวลาคำนวณคาร์บอนเครดิต 7 ปี ตั้งแต่ปี 2562 - 2569

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาโครงการ 7 ปี คาดว่าจะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 1.87ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า สูงกว่าเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ประเทศกำหนด
(NCD) ในภาคการจัดการของเสีย (Waste Sector) ที่กำหนดที่ 1.6 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

ข่าวยอดนิยม