หน้าแรก > เศรษฐกิจ

ผู้แทนการค้าไทย หารือทูตบังกลาเทศ สานต่อความร่วมมือการค้า-การลงทุน พร้อมนำนักธุรกิจไทยบุกตลาดบังกลาเทศ

วันที่ 13 มิถุนายน 2024 เวลา 04:24 น.


ผู้แทนการค้าไทย หารือทูตบังกลาเทศ สานต่อความร่วมมือการค้า-การลงทุน พร้อมนำนักธุรกิจไทยบุกตลาดบังกลาเทศ

(12 มิถุนายน 2567) ดร. นลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย หารือเอกอัครราชทูตบังกลาเทศเตรียมนำคณะนักธุรกิจไทยเยือนบังกลาเทศในเดือนกรกฎาคม 2567 เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกัน ฝ่ายบังกลาเทศเล็งเห็นจุดเด่นของไทยที่จะช่วยสร้างความหลากหลายให้เศรษฐกิจของบังกลาเทศ เผยบังกลาเทศมีความพร้อมรับการลงทุนจากไทยในหลายด้าน

ภายหลังจากเชค ฮาซีนา นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ ได้เยือนไทยอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 24 – 29 เมษายน 2567 และได้หารือกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนให้เพิ่มมากขึ้น ทั้งสองฝ่ายได้ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันเป็น 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ผู้แทนการค้าไทย (นางนลินี ทวีสิน) และเอกอัครราชทูต ณ กรุงธากา (นางมาฆวดี สุมิตรเหมาะ) นำคณะภาคเอกชนไทยไปสำรวจศักยภาพทางเศรษฐกิจที่บังกลาเทศเพื่อหาทางรักษาตลาดและขยายโอกาสทางเศรษฐกิจของไทยในสาขาต่าง ๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมเกษตร พลังงาน สินค้าฮาลาล ท่องเที่ยว สุขภาพ และโลจิสติกส์ โดยฝ่ายบังกลาเทศได้เชิญให้คณะภาคเอกชนไทยเข้าไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษและพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะที่ Cox’s Bazar ซึ่งถือว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของบังกลาเทศ

ศักยภาพทางเศรษฐกิจของบังกลาเทศ: โอกาสใหม่ที่ไทยไม่ควรพลาด

ดร. นลินี ทวีสิน เปิดเผยหลังหารือกับ นายมุฮัมมัด อับดุล ฮัย เอกอัครราชทูตบังกลาเทศประจำประเทศไทยว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บังกลาเทศได้ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในภูมิภาคเอเชียใต้ (ประมาณร้อยละ 7-8 ต่อปี) ซึ่งเป็นหนึ่งในอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดในโลก ด้วยการพัฒนาในหลายภาคส่วนและการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ และมีศักยภาพที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทยในเอเชียใต้ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ที่ดีในบังกลาเทศ โดยสินค้าและบริการของไทยได้รับความเชื่อมั่นจากชาวบังกลาเทศ เช่น ผลิตภัณฑ์อาหาร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มสินค้าเกษตรกรรม เช่น ข้าว ผลไม้ และสินค้าประมง ซึ่งมีโอกาสสูงในการต่อยอดเข้าสู่ตลาดบังกลาเทศที่มีประชากรมากกว่า 174 ล้านคน

ดร. นลินี ยังเล่าถึงกำหนดการนำคณะภาคเอกชนไทยเยือนบังกลาเทศอย่างคร่าว ๆ ว่า จะมีการเดินทางไปเยี่ยมชมเขตเศรษฐกิจพิเศษ Japanese Economic Zone เพื่อศึกษารูปแบบความร่วมมือระหว่างรัฐบาลบังกลาเทศกับรัฐบาลต่างประเทศด้านการลงทุน การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ Korean Export Processing Zone (KEPZ) เพื่อศึกษารูปแบบการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมโดยบริษัทเอกชนต่างชาติ Cox’s Bazar เมืองท่องเที่ยวที่มีชายหาดยาวที่สุดในโลกเพื่อศึกษาลู่ทางการพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยว Sabrang Tourism Park และ Naf Tourism Park และท่าเรือจิตตะกอง (Chittagong Port) ซึ่งเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดของบังกลาเทศ เป็นศูนย์กลางการนำเข้าและส่งออกสินค้า และมีศักยภาพในการเชื่อมโยงกับท่าเรือไทยในฝั่งอันดามัน เช่น ระนอง รวมทั้งยังมีโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก Matarbari ที่จะรองรับเรือขนาดใหญ่ได้ นอกจากนี้ ภาคเอกชนไทยจะได้เข้าร่วมสัมมนาเกี่ยวกับโอกาสและลู่ทางการขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในบังกลาเทศ และกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) อีกด้วย

ผู้แทนการค้าไทยกล่าวเพิ่มเติมว่า ภาคเอกชนไทยได้ลงทุนในบังกลาเทศมานานกว่า 20 ปี รวมมูลค่าสะสมประมาณ 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังมีโอกาสด้านการลงทุนอีกมากเพราะรัฐบาลบังกลาเทศกำลังเร่งพัฒนาให้เป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงภายในปี 2474 และมีนโยบายจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ จำนวน 100 เขต ภายในปี 2584 นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตบังกลาเทศฯ ได้ย้ำถึงความพร้อมของประเทศในการเปิดรับความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนจากไทย โดยรัฐบาลบังกลาเทศได้เตรียมความพร้อมในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมทั้งทางถนน ทางรถไฟ และท่าเรือ รวมถึงการปรับปรุงระบบไฟฟ้าและพลังงาน และในขณะเดียวกัน รัฐบาลบังกลาเทศได้ดำเนินนโยบายสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศโดยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี การลดขั้นตอนการอนุมัติการลงทุน และการให้ความสะดวกในการทำธุรกรรมทางธุรกิจ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้บังกลาเทศเป็นตลาดที่น่าสนใจยิ่งขึ้นสำหรับนักลงทุนไทย
 

ข่าวยอดนิยม