หน้าแรก > สังคม

รองนายกรัฐมนตรี เร่งยกระดับพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยกับรัฐติดชายแดนมาเลเซีย สู่การเป็นเมืองคู่แฝด

วันที่ 7 มิถุนายน 2024 เวลา 00:50


รองนายกรัฐมนตรี เร่งยกระดับพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยกับรัฐติดชายแดนมาเลเซีย สู่การเป็นเมืองคู่แฝด  

วันที่ 6 มิ.ย.67 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และคณะฯ เดินทางลงพื้นที่จังหวัดยะลา โดยจุดแรกเดินทางลงพื้นที่เยี่ยมให้ขวัญกำลังใจผู้ที่ได้รับการเยียวยาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ณ บริษัท สหพันธ์การไฟฟ้า จำกัด ตำบลท่าสาป อ.เมือง จ.ยะลา หลังถูกคนร้ายลอบวางเพลิง ทำให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหาย อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และโครงสร้างอาคารจากการถูกไฟไหม้ เมื่อช่วงวันที่ 22 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ปัจจุบันได้รับเงินเยียวยาเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยมีนายอำพล พงศ์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เป็นผู้แทนในการมอบ จำนวนเงินเยียวยา กว่า 24 ล้านบาท จากนั้นเดินทางไปยังวัดนิโรธสังฆาราม อ.เมือง จ.ยะลา เข้ากราบนมัสการ พระโสภณธรรมมุนี ดร. รองเจ้าคณะจังหวัดยะลา พร้อมทั้งพบปะเครือข่ายครือข่ายชาวไทยพุทธพื้นที่จังหวัดยะลา จากนั้นได้เดินทางไปยังศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเป็นประธานในการประชุมมอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานด้านการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.)  โดยมี พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต. ) นายอำพล พงศ์สุวรรณ  ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา หัวหน้าส่วนราชการ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมปัญจเพชร ชั้น 3 อาคารศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 2 วันที่ผ่านมาในการลงพื้นที่ ในฐานะประธาน กพต. ผมได้พบผู้แทนหน่วยงานราชการและพี่น้องประชาชนในหลายจุด พบว่า จังหวัดชายแดนภาคใต้มีศักยภาพเอื้อต่อการพัฒนาในหลายด้าน จึงได้มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานมุ่งเน้นการปฏิบัติงานด้านการพัฒนาในพื้นที่ให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาลใน 5 ด้าน ประกอบด้วย

1. ด้านการพัฒนาศักยภาพพื้นที่ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ และกระจายรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ ให้เร่งดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ได้แก่ การยกระดับการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยกับรัฐติดชายแดนไทยของมาเลเซียสู่การเป็นเมืองคู่แฝด (Twin cities) โดยเฉพาะการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2 การก่อสร้างถนนเชื่อมด่านสะเดาของไทยกับด่านของมาเลเซีย การพัฒนาการท่องเที่ยว โดยเร่งพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน และส่งเสริมการท่องเที่ยวรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อให้คนในพื้นที่เกิดรายได้ การส่งเสริมสินค้าเกษตร โดยเฉพาะผลไม้ในพื้นที่ เช่น ทุเรียน เป็นต้น ให้มีศักยภาพเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญไปยังต่างประเทศ การพัฒนาเกษตรกร ผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพ (Startup) และธุรกิจ SME อย่างต่อเนื่อง การส่งเสริมอาหาร สินค้า และบริการฮาลาล รวมถึงส่งเสริมและผลักดัน Soft Power ของพื้นที่มาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 
2. ด้านการยกระดับคุณภาพชีวิต โดยการเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจน การ “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส” ผ่านนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ด้านการศึกษา มุ่งส่งเสริมการศึกษาสายสามัญควบคู่การศึกษาสายศาสนา รวมถึงการศึกษาสายอาชีพ ทั้งในและนอกระบบการศึกษา 
3. ด้านสาธารณสุข เน้นส่งเสริมการให้ความรู้ด้านสาธารณสุขที่ถูกต้องเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของมารดาและบุตรหลังคลอด และผลักดันการจัดตั้งโรงพยาบาลจิตเวชเพื่อรองรับผู้ป่วยในพื้นที่ 
4. ด้านการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม ให้ความสำคัญกับคนไทยทุกกลุ่มให้สามารถเข้าสู่บริการภาครัฐได้อย่างเท่าเทียมกัน ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการดำเนินชีวิตตาม อัตลักษณ์ ความเชื่อ โดยไม่ปิดกั้น รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่ม อาทิ กลุ่มเยาวชน นักศึกษา กลุ่มสตรี องค์กรภาคประชาสังคม เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเต็มที่ 
5. ด้านการดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความช่วยเหลือดูแลและเยียวยาผู้อย่างรวดเร็ว เท่าเทียม เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ และครอบคลุมทุกมิติ 
และ 6. ด้านการขับเคลื่อนงานตามมติ กพต. มอบหมายให้ ศอ.บต. จังหวัดชายแดนภาคใต้ 5 จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดขับเคลื่อน มติ กพต. ที่สำคัญให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมโดยเร็ว และมอบหมายให้ ศอ.บต. เป็นหน่วยงานหลัก ประสานกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้ง 5 จังหวัด และหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันผลักดันโครงการที่มีความสำคัญ เร่งด่วน และสามารถตอบสนองต่อปัญหาความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง นำเสนอให้คณะกรรมการ กพต. ผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์แก่ประชาชนในพื้นที่โดยเร็วที่สุด  อย่างไรก็ตาม ศอ.บต. ร่วมกับ จังหวัดยะลา และเทศบาลนครยะลา เร่งดำเนินการตรวจสอบโครงสร้างเพิ่มเติมให้เร็วที่สุด เนื่องจากเป็นโครงสร้างที่อยู่นอกเหนือจากที่เคยแจ้งไว้ ทางโยธาธิการฯ เร่งตรวจสอบอีกครั้ง เพื่อความถูกต้องที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และคาดว่าจะได้รับการเยียวยาในเร็ววันนี้

 

 

 

 

ข่าวยอดนิยม