หน้าแรก > สังคม

ปรบมือ! แพทย์ไทยซ่อมลิ้นหัวใจมนุษย์จากเยื่อหุ้มหัวใจวัวและหมู ชี้ ดีกว่าของเทียม เตรียมต่อยอดพัฒนา ลดการนำเข้า

วันที่ 29 พฤษภาคม 2567 เวลา 15:14 น.


29 พฤษภาคม 2567 นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ในอนาคตผู้ป่วยโรคหัวใจจะมีโอกาศรอดชีวิตได้มากขึ้น เมื่อทีมแพทย์ของไทยประสบความสำเร็จด้วยการซ่อมลิ้นหัวใจมนุษย์จากเยื่อหุ้มหัวใจวัวและหมู โดย รพ.ศูนย์การแพทย์ ม.วลัยลักษณ์ ระบุ การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจจากชิ้นส่วนหัวใจหมูและวัว ซึ่งได้ผลดีกว่าลิ้นหัวใจสังเคราะห์ เตรียมเดินหน้าวิจัยพัฒนาต่อยอด ลดการนำเข้า

เว็บไซต์ โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ระบุ หน่วยศัลยศาสตร์ทรวงอก หัวใจ และหลอดเลือด (CVT) โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประสบความสำเร็จในการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียม จากเยื่อหุ้มหัวใจวัว ทั้ง Aortic และ Mitral Valve ในผู้ป่วยชายวัย 60 ปี ที่มีภาวะลิ้นหัวใจอักเสบติดเชื้อ ผู้ป่วยรายนี้มีอาการเหนื่อยง่าย นอนราบไม่ได้ อึดอัดและแน่นหน้าอก บวมตามร่างกาย เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง ปวดเมื่อยตามร่างกาย ผิวพรรณซีด และมีไข้หนาวสั่น โดยเริ่มมีอาการดังกล่าวตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา

เมื่อมาถึงโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ฯ ผู้ป่วยมีสัญญาณชีพไม่คงที่ ออกซิเจนในเลือดต่ำ จนต้องใส่ท่อช่วยหายใจและให้ยาปรับระดับความดันโลหิต หลังจากนำผู้ป่วยเข้ารักษาในหอผู้ป่วยวิกฤติ ตรวจเลือดพบติดเชื้อในกระแสเลือด จึงได้ให้ยาต้านเชื้อทางหลอดเลือด ใช้เครื่องช่วยหายใจ และปรับสมดุลเกลือแร่ในร่างกาย การตรวจเอคโค่หัวใจพบว่าผู้ป่วยมีภาวะติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ ซึ่งลิ้นหัวใจชำรุดเสียหายมาก ทั้งลิ้น Aortic และ Mitral Valve ทีมแพทย์จึงวางแผนรักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ตัดเอาเนื้อเยื่อลิ้นหัวใจที่ติดเชื้อและชำรุดออก แล้วนำลิ้นหัวใจเทียมที่ทำจากเยื่อหุ้มหัวใจวัวมาใส่แทน สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยรายนี้ไว้ได้

ขณะที่ นพ.สมชาย ไวกิตติพงษ์ แพทย์เฉพาะทางศัลยศาสตร์ทรวงอก ประจำ รพ.ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดเผยว่าการผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจโดยใช้ชิ้นส่วนจากหัวใจวัวและหมู นำมาซ่อมแซม หรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจของมนุษย์เป็นเทคโนโลยีที่มีมาพอสมควรแล้ว และมีผลดีกว่าการใช้ลิ้นหัวใจเทียมผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็วและมีอาการข้างเคียงน้อยกว่าลิ้นหัวใจสังเคราะห์หรือที่เรียกว่าลิ้นหัวใจเทียม

"ชิ้นส่วนจากหัวใจวัว และหมูนั้นไม่ได้มาจากการเลี้ยงทั่วไป แต่จะเป็นการเลี้ยงในระบบควบคุมทางเทคโนโลยีชั้นสูงทุกขั้นตอน หลังจากได้ชิ้นส่วนมาแล้วจะนำมาตรวจสอบคัดกรองอย่างละเอียดไม่มีร่องรอยหินปูนหรือสิ่งแปลกปลอมอื่นจากนั้นจะนำมาเย็บด้วยมือมนุษย์แล้วจึงนำมาใช้ซ่อมแซมลิ้นหัวใจในการผ่าตัด"

นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผอ. โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ การผ่าตัดซ่อมหัวใจ โดยเฉพาะลิ้นหัวใจ ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีความก้าวหน้า ผนวกกับแพทย์ผ่าตัดผู้เชี่ยวชาญการรอดชีวิตของผู้ป่วยจากภาวะลิ้นหัวใจพิการ ลิ้นหัวใจรั่ว หรือด้วยอาการอื่นสู่การวินิจฉัยและปฏิบัติการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ทำให้ผู้ป่วยรอดชีวิต และสามารถกลับไปใช้ชีวิตในครอบครัวได้อย่างปกติ

"การใช้ชิ้นส่วนเนื้อเยื่อหุ้มหัวใจจากวัว และหมู มาใช้ซ่อมแซมลิ้นหัวใจคน เป็นทางเลือกที่ได้รับความสนใจมากขึ้น แต่ปัจจุบันนั้นยังมีการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลักมีมูลค่าสูง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีความพร้อมในทุกด้าน พื้นที่ฟาร์ม อุปกรณ์เครื่องมือ นักวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ นักเทคโนโลยีนวัตกรรมทางการแพทย์ และอีกหลายสาขาที่เกี่ยวข้อง การเริ่มต้นพัฒนาและการผลิตขึ้นมาจะเป็นทางเลือกที่สำคัญให้กับการช่วยเหลือกลุ่มผู้ป่วยนี้ได้มากขึ้น"

ที่มา : https://hospital.wu.ac.th/?p=29979&fbclid

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม